SCB EIC แนะ 4 แนวทางแก้ไข หวั่นไทยเสี่ยงถูกลดเครดิต

ศูนย์วิจัยฯ ธนาคารไทยพาณิชย์ เตือนไทยเสี่ยงถูกปรับลดเครดิตเรตติงประเทศจาก BBB+ โดยเผย 3 จุดอ่อน “หนี้ภาครัฐสูง-การเมืองไร้เสถียรภาพ-GDOP เติบโตต่ำ” พร้อมเสนอแนวทางลดความเสี่ยง 4 ด้าน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 ต.ค. 67) ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกมาประเมินว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดเครดิตเรตติง จากจุดอ่อนหลายประเด็น โดยเฉพาะ ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เนื่องจากวินัยการคลังไทยไม่เข้มแข็งเช่นเดิม และการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้น แผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติ คือต่ำกว่า 3% ของจีดีพี (GDP) ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย จึงยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น

โดยแตกต่างจาก Peers หรือกลุ่มประเทศระดับเครดิตเรตติง BBB+ ที่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐลงมาได้หลังโควิด ขณะที่ เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงด้านสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ที่ Fitch สถาบันจัดอันดับเครดิตใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติงประเทศ และ อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน

นอกจากนี้ฝ่ายวิจัยระบุว่า ปัจจุบันอันดับเครดิตเรตติงของไทยอยู่ที่ BBB+ มุมมอง แนวโน้มที่มั่นคง หรืออันดับเครดิตที่กำหนดให้นั้นมีความนิ่ง ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในระยะสั้น โดย Fitch ประเมินไว้เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2566 ว่า ไทยมีจุดแข็งด้านต่างประเทศ ได้แก่ ทุนสำรองระหว่างประเทศสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ, กรอบนโยบายเศรษฐกิจมหภาคน่าเชื่อถือ, โครงสร้างหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวและกู้ในประเทศ แต่มีจุดอ่อนใน มิติเชิงโครงสร้าง ได้แก่ รายได้ต่อหัวต่ำ, โครงสร้างประชากรไม่เอื้อ มิติเศรษฐกิจมหภาค หนี้ภาคเอกชนสูง และมิติการคลัง หนี้ภาครัฐและขาดดุลการคลังสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ ไทยอาจได้ปรับเพิ่มอันดับก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยไม่กระตุ้นให้หนี้ภาคเอกชนเพิ่มมากเกินไป หรือรัฐบาลสามารถลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP ลงได้ แต่ขณะเดียวกันก็อาจถูกปรับลดอันดับได้ หากไม่สามารถคุมให้สัดส่วนหนี้ภาครัฐต่อ GDP มีเสถียรภาพได้ หรือหากความไม่สงบทางการเมืองเพิ่มขึ้น จนกระทบประสิทธิภาพการดำเนินนโยบายภาครัฐและการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนผลกระทบหากไทยถูกลดอันดับเครดิต จะส่งผลให้ภาครัฐมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จนทำให้ภาครัฐอาจต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชำระดอกเบี้ยที่แพงขึ้นหรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้  ภาคเอกชนเองก็จะมีต้นทุนในการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน กดดันการลงทุนและการบริโภค ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจ

SCB EIC เสนอแนวทางลดความเสี่ยง 4 ด้าน ดังนี้

  1. จัดทำแผนปฏิรูปการคลัง ผ่านการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้คุ้มค่า ใช้จ่ายดูแลกลุ่มที่ยังเปราะบาง จัดสรรรายจ่ายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว พร้อมทั้งลดรายจ่ายไม่จำเป็น เช่น รายจ่ายนโยบายประชานิยมที่เห็นผลแค่ระยะสั้น ลดขนาดหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานซ้ำซ้อน และเพิ่มรายได้ภาครัฐในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม โดยขยายฐานภาษีและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ครอบคลุมเท่าเทียม
  2. มีกลไกติดตามวินัยทางการคลัง โดยเฉพาะบทบาทภาคประชาสังคม เช่น ความเข้มงวดต่อกฎเกณฑ์การคลัง การจัดตั้งสถาบันวิจัยการคลังที่เป็นอิสระ
  3. ปรับโครงสร้างการผลิตและการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมให้แข่งขันในตลาดโลกได้ ลดอุปสรรคทางกฎหมายและระเบียบซ้ำซ้อน (Regulatory guillotine) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการประกอบธุรกิจในไทย การผลักดันสนธิสัญญาทางการค้าใหม่ ๆ
  4. เน้นการเติบโตเชิงคุณภาพของเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น ได้แก่ ความทั่วถึงเท่าเทียม (Inclusiveness) ความยั่งยืนสิ่งแวดล้อม (Sustainability) นวัตกรรม (Innovation) และความล้มยากลุกเร็ว (Resilience) ซึ่งนอกจากจะช่วยปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมรับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ภายใต้ความไม่แน่นอนรอบด้านที่สูงขึ้น เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี (Technological disruption) และสภาพอากาศผันผวน (Climate change) แล้ว ยังจะส่งผลช่วยให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณหรือ “GDP” ของไทยปรับสูงขึ้นได้อีกทาง

Back to top button