PTTGC ผนึกทุกภาคส่วน ดันไทยสู่สังคม “คาร์บอนต่ำ” ลุยผลิตน้ำมัน SAF เริ่ม COD ม.ค.68

PTTGC ร่วมผลักดันประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” ลุยปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว สู่การผลิตน้ำมัน SAF เบื้องต้นกำลังผลิต 5 แสนลิตรต่อวัน คาดเริ่ม COD เดือน ม.ค. 68 หนุนเป้าหมาย Net Zero ปี 93


นายณะรงค์ศักดิ์ จิวากานันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC แถลงข่าวในงาน GC Sustainable Living Symposium 2024: GEN S GATHERING จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด “ยั่งยืนไม่ยาก” รวมพลังครั้งสำคัญของคนหัวใจรักษ์โลก หรือ GEN S จากทุกภาคส่วน ณ พารากอนฮอล์ ชั้น 5 สยาม พารากอน

โดยธีมงานในวันนี้ มองว่าเป็นงานที่อยู่ในรอบตัวเรา ตระหนักความรู้ให้มากขึ้น เพื่ออยากให้เกิดความร่วมมือมากขึ้น รวมถึงไอเดียจะเป็นสิ่งต่อยอดความคิดให้เร็วยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเทคโนโลยี ที่บริษัทต้องการสร้างความเชื่อมั่นว่าเราทำได้ โดยมีพันธมิตรพร้อมที่จะสนับสนุนต่างๆ ส่วนเรื่องระบบบริหารการจัดการการแยกขยะ บริษัทมีการทำโครงการนำร่องหลายชุมชน สิ่งต่อไปคือการขยายผลทำให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้นในทั่วประเทศ และขยะที่คิดว่าเป็นปัญหาก็กลับมาเป็นวัตถุดิบที่กลับมาใช้งานได้ ส่วนเรื่องคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 ไม่ว่าจะเป็นการดักจับหรือดักเก็บ ซึ่งบริษัทมีความพร้อมและเตรียมตัวอย่างดี

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาความร่วมมือ เพื่อบรรเทาปัญหาโลกเดือด และสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ สำหรับ GenS มาจากเรื่องนี้ไม่ได้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง มองว่าเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน สร้างความยั่งยืน Sustainability ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือแม้แต่อุตสาหกรรม

โดย PTTGC ดำเนินการตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ผ่านการดำเนินโครงการมากกว่า 200 โครงการ มีการใช้หลัก 5R ใช้พลังงานหมุนเวียน นำเทคโนโลยีและ Digitalization เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพโรงงาน รวมถึงแผนการบริหารจัดการคาร์บอน ภายใต้ความร่วมมือในกลุ่มปตท. ทั้งการศึกษาการกักเก็บ การใช้ประโยชน์จากคาร์บอน และการแสวงหาโอกาสในธุรกิจไฮโดรเจน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่ Net Zero ของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย

ด้านเนเชอร์เวิร์คส์ บริษัทได้ร่วมลงทุนกัน สร้างโรงงานใหม่ โดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติเปลี่ยนน้ำตาลทางธรรมชาติให้กลับมาเป็นพลาสติกไบโอ คือ ชีวภาพย่อยสลายได้ โดยทั้งระบบเป็น renewable หมด ซึ่งจะเริ่มต้นที่ประเทศอเมริกา โดยใช้น้ำตาลจากข้าวโพด โดยมีการปรึกษาหารือหลังจากที่ร่วมลงทุนกันแล้ว มีการเสนอว่าควรที่จะมีการตั้งในประเทศไทย มองว่าประเทศไทยมีเกษตรกรรม มีวัตถุดิบทางธรรมชาติมากมาย สุดท้ายก็ได้ตั้งในประเทศไทย โดยใช้ผลิตภัณฑ์เป็นน้ำตาล กับอ้อย ที่มีการส่งออกในอันดับ 2 ของโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ สร้างงาน สร้างตลาดใหม่ๆ โดยได้มีการสร้างโรงงานที่ 2 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างในจังหวัดนครสวรรค์ คาดการณ์เสร็จในปลายปี 68 คาดว่าจะเป็นโรงงานแรกนอกอเมริกา

ส่วน Allnex ผู้นำด้านเคมีภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนระดับโลก ที่มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน ลดการปล่อยของเสียในกระบวนการผลิต จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และยังมีผลิตภัณฑ์ไบโอเคมิคอล ไบโอพลาสติก หรือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น แคปซูลกาแฟ  บรรจุภัณฑ์ และเส้นใยสำหรับการพิมพ์ 3 มิติ โดยจะเน้นนวัตกรรม และ High Value

โดยจะทำการเคลือบอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์ ต้องมีการเคลือบผิวมากสุด โดยขึ้นอยู่กับการใช้งาน มีคุณสมบัติ ความแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหน โดยจะเน้นเรื่องความยั่งยืน ไม่ให้เกิดมลพิษ หรือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการเคลือบผิว

นอกจากนี้ PTTGC เป็นบริษัทไทยรายแรกที่ปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันดิบ ด้วยเทคโนโลยีการกลั่นขั้นสูงให้สามารถรองรับวัตถุดิบเหลือใช้จากการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับน้ำมันพืชใช้แล้ว สู่การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ SAF ซึ่งถือเป็นพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable & Sustainable Energy ที่มีวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีแผนจะผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2568 จะได้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน  (SAF) ออกมา เบื้องต้นราวประมาณ 500,000 ลิตรต่อวัน โดยภายหลังจากนั้นจะมีการทยอยปรับขึ้นคาดว่ามีกำลังผลิตถึงประมาณ 20,000 ตันต่อปี  โดยผลิตภัณฑ์ได้รับมาตรฐานด้านความยั่งยืนและการลดการปล่อยคาร์บอน ISSC Plus และ ISSC Corsia ซึ่งรับรองว่าผลิตภัณฑ์จากโครงการนี้ได้รับการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้ง Value Chain

สำหรับ PTTGC มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรต้นแบบการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในระดับสากล ภายใต้วิสัยทัศน์ “การเป็นผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล เพื่่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต” พร้อมสร้างสมดุุลด้านความยั่งยืนผ่านการประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ใน 3 มิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจและการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี และในปี 2564 PTTGC ได้กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ

“เรามองเห็นอนาคตที่ชัดเจนว่า ภาคการผลิตจะเปลี่ยนกระบวนการไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการของตลาด แต่เป็นการลงทุนเพิ่มขึ้นในโซลูชันที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะทำให้ภาคการผลิตสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน” นายณะรงค์ศักดิ์ กล่าว

Back to top button