ส.อ.ท. แนะรัฐฯ คุมอีคอมเมิร์ซ “ต่างชาติ” จดทะเบียน-เสียภาษี ในไทย

ส.อ.ท. เผยผู้ประกอบการไทยยอดขายลดลง 35% หลังแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูก แนะรัฐควบคุมจับจดทะเบียน-เสียภาษีภายในประเทศ


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (21 ต.ค.67) มล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 41 ในเดือนตุลาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกบุกไทย อุตสาหกรรมจะรับมืออย่างไร” พบว่าผู้บริหาร ส.อ.ท. ที่ตอบแบบสำรวจถึง 35.1% มียอดขายลดลงจากการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าถูกจากต่างประเทศ

โดยเฉพาะในกลุ่ม สินค้าเครื่องนุ่งห่ม, เฟอร์นิเจอร์, ผลิตภัณฑ์พลาสติก และ บรรจุภัณฑ์ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบางรายการอาจเป็นสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีคุณภาพ หรือไม่ตรงปกทำให้ผู้บริโภคสูญเสียเงินตลอดจนมีความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยในการบริโภคสินค้าด้วย

ดังนั้น ผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากต่างประเทศจะต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทยเพื่อให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด รวมทั้งกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรับผิดชอบในการคืนสินค้า กรณีสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่ตรงปก

อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจพบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ยังมองว่า สินค้าไทยยังสามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ แต่ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวเพื่อพัฒนาและสร้างจุดแข็งให้กับสินค้า โดยเฉพาะการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ การนำเทคโนโลยีนวัตกรรมมายกระดับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจในการส่งเสริมสินค้าที่ผลิตในประเทศและการเปิดตลาดไปยังต่างประเทศ

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ดังนี้

1.) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอย่างไร พบว่า อันดับ 1 : ไม่ได้รับผลกระทบ 47.4%

อันดับ 2 : ลดลง 35.1% และ อันดับ 3 : เพิ่มขึ้น 17.5%

2.) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกมีผลกระทบเชิงบวกอย่างไร พบว่า อันดับ 1 : เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงสินค้าจากโรงงานโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง 65.7%, อันดับ 2 : เร่งให้ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัวพัฒนาธุรกิจให้สามารถแข่งขันได้ 64.0%, อันดับ 3 : ส่งเสริมตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศให้ขยายตัว ตลอดจนส่งเสริม 26.3% เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) และ อันดับ 4 : ช่วยลดต้นทุนในการบริหารสินค้าคงคลังให้แก่ผู้ประกอบการที่สั่งสินค้า 13.1% มาจำหน่ายในประเทศ

3.) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกจะส่งผลกระทบเชิงลบในเรื่องใด พบว่า อันดับ 1 : สินค้าที่ไม่มีมาตรฐานและคุณภาพเข้ามาในประเทศ 61.7% ส่งผลถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและทำให้เกิดภาระในการกำจัดขยะ และ อันดับ 2 : ไม่สามารถแข่งขันด้านราคาและทำให้ถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาด 44.6% ส่วน อันดับ 3 : ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) 41.7% ของอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะที่ อันดับ 4 : กระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการในประเทศ เนื่องจากต้องปรับลดราคา 26.9% และต้นทุนเพื่อแข่งขัน

4.) ภาครัฐควรมีการกำกับดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างไร พบว่า อันดับ 1 : กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 67.4% จากต่างประเทศต้องจดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทยเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), อันดับ 2 : บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเคร่งครัด 46.9% เปิดช่องทางให้ร้องเรียนได้สะดวกและกำหนดให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม บริหารจัดการการคืนสินค้ากรณีสินค้าไม่ได้คุณภาพหรือไม่ตรงปก

ขณะที่ อันดับ 3 : บังคับให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องมีการแสดง 45.1% เครื่องหมายมาตรฐาน รวมทั้งฉลากบนแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ ส่วน อันดับ 4 : ควรมีการตรวจสอบการใช้ระบบชำระเงิน (Payment) ออกไปยังต่างประเทศ 26.3% โดยบังคับให้เข้าสู่ระบบที่ถูกต้องและอยู่ภายใต้การกำกับของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

5.) ภาคเอกชนควรปรับตัวรับมือกับการเข้ามาของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขายสินค้าราคาถูกอย่างไร พบว่า อันดับ 1 : พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์และการนำเทคโนโลยีนวัตกรรม 57.7% มายกระดับกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ และ อันดับ 2 : สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจในการส่งเสริมสินค้า 48.6% ที่ผลิตในประเทศและการเปิดตลาดสินค้า

ส่วนอันดับ 3 : การใช้แนวคิดความคิดสร้างสรรค์ (Creative & Design) เพื่อสร้าง 34.9% เอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์และให้ความสำคัญกับการจดสิทธิบัตร และ อันดับ 4 : การสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่ยอมรับและพัฒนาบริการหลังการขาย 32.0%

6.) อุตสาหกรรมสามารถแข่งขันกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามาผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้หรือไม่ พบว่า อันดับ 1 : สามารถแข่งขันได้ 80.7% และ อันดับ 2 : ไม่สามารถแข่งขันได้ 19.3%

Back to top button