สัญญาณดี! BCH ส่งซิก ประชุมคณะอนุฯ “สปส.” นัดแรก ส่อแววขึ้นค่าชดเชย “โรคร้ายแรง”

“หมอเฉลิม” แย้มการประชุมคณะอนุกรรมการ “สปส.” นัดแรก 17 ต.ค. แนวโน้มดี มั่นใจปรับขึ้นอัตราจ่ายเงินชดเชยผู้โรคร้ายแรง มองประชุมนัด 2 ช่วงวันที่ 29 ต.ค. และ 11 พ.ย.นี้ ได้ข้อสรุป โบรกฯ คาดได้รับจ่ายเงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 1.2 หมื่นบาทต่อ DRG>2 หนุนกำไร BCH เพิ่ม 7.2%


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (22 ต.ค.67) ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือ BCH เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า จากการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ) นัดแรก เพื่อเจรจากับเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อแก้ไขปัญหาอัตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีผู้ป่วยโรคร้ายแรง (Adj RW ≥ 2) เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มเชิงบวก และมั่นใจจะมีการปรับขึ้นอัตราการจ่ายเงินชดเชยฯ อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การประชุมรอบแรก มีการแสดงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงของ โรงเรียนแพทย์ (มหาวิทยาลัย) ประมาณ 30,000 กว่าบาท ต่อน้ำหนักสัมพัทธ์ (AdjRW) และโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 13,400-13,800 บาทต่อ AdjRW ส่วนโรงพยาบาลเอกชนยังไม่ได้แจงรายละเอียด แต่ในระดับเดิม 12,000 บาทต่อ AdjRW ที่ได้อยู่นั้น ยังมีบางรายการรักษาที่ทำให้เกิดผลขาดทุน

โดยกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนได้ยื่นเสนอการปรับขึ้นอัตราการจ่ายเงินชดเชยฯ ไม่เกิน 13,000-15,000 บาทต่อ AdjRW พร้อมกับพิจารณาคู่กับข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย เบื้องต้นจะมีการประชุมของคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ฯ กันเพิ่มเติมอีก 2 รอบ คือ วันที่ 29 ตุลาคม 2567 และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567  ซึ่งจะได้ข้อสรุปทันที

ด้าน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) หรือ M-CHAI และอดีตนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับอัตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีผู้ป่วยโรคร้ายแรง (Adj RW ≥ 2) เป็นมากกว่า 13,000 บาท ต่อ AdjRW เพราะอดีตเคยอยู่ระดับสูงสุด 15,000 บาทต่อ AdjRW และทยอยปรับลงมาเรื่อย ๆ เหลือ 12,000 บาทต่อ AdjRW  ล่าสุดยังจ่ายเพียง 7,200 บาท ต่อ AdjRW

ส่วนบทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบอัตราการชำระเงินสำหรับโรงพยาบาลที่มีสัญญา โดยคณะกรรมการได้หารือเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลและการใช้บริการในกลุ่มวินิจฉัยร่วม หรือ DRG มากกว่า 2 (DRG>2) พบว่าในปี 2567 มีอัตราการใช้บริการสูงกว่าปี 2566 ในปี 2563-2564 อัตรานี้สูงกว่า 5% ในปี 2566 อยู่ที่ 5.64%

ขณะที่ในปี 2566 อยู่ที่ 6.45% เพิ่มขึ้นเกือบ 1% ส่งผลให้ราคาต่อเคสลดลงในช่วงสิ้นปี สำหรับค่าใช้จ่ายในกลุ่มโรคนี้ที่สะท้อนโดยหน่วยบริการที่เกี่ยวข้อง พบว่าโรงพยาบาลรัฐมีค่าใช้จ่าย 13,800 บาทต่อ AdjRW ในขณะที่โรงพยาบาลแพทยศาสตร์มีค่าใช้จ่ายประมาณ 30,000 บาทต่อ AdjRW ส่วนโรงพยาบาลเอกชนนั้น แต่ละเครือข่ายมีความแตกต่างกัน เช่น อัตราการชำระเงินที่ 15,000 บาท ยังทำให้เกิดการขาดทุนในบางรายการ

โดยหลังจากการประชุม ศ.ดร.นพ.เฉลิม มีความมั่นใจมากขึ้นว่าจะได้รับการชำระเงินที่รับประกันอย่างน้อย 12,000 บาทต่อ DRG>2 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาของโรงพยาบาลรัฐในกลุ่ม DRG>2 ยังคงสูงถึง 13,800 บาท ในขณะที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับเพียง 12,000 บาท นอกจากนี้ในไตรมาส 4/2566 โรงพยาบาลเอกชนได้รับเพียง 7,200 บาทต่อ DRG>2

ดังนั้น การวิเคราะห์ความไวชี้ให้เห็นว่าการรับประกัน 12,000 บาทต่อ DRG>2 จากกองทุนประกันสังคมอาจทำให้ประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น 2.1% โดยการเพิ่มนี้เกิดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากบริการดูแลที่มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 20% ของรายได้รวมของสํานักงานประกันสังคม

ในขณะที่เราคงอัตรากำไรขั้นต้นธุรกิจโรงพยาบาลไว้ดังเดิม หากสำนักงานประกันสังคมให้การรับประกันสูงถึง 13,800 บาทต่อ DRG>2 (ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยโรงพยาบาลรัฐ) จะส่งผลให้กำไรเพิ่มขึ้น 7.2% สำหรับ BCH

ขณะที่ การประชุมครั้งที่สองจะจัดขึ้นในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 การประชุมนี้จะเจาะลึกถึงอัตราสำหรับแต่ละหมวดหมู่บริการ เช่น โรคเรื้อรัง 26 โรคที่จำเป็นต้อง ปรับปรุงเนื่องจากมีการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้น สํานักงานประกันสังคมจะต้องหาทางออก แต่จะเน้นไปที่ค่าใช้จ่าย DRG>2

Back to top button