PTIT จี้รัฐตั้งทีมเจรจาปิดดีลพื้นที่ทับซ้อน OCA หวั่นช้าต่างชาติถอนตัว!

PTIT จี้รัฐตั้งทีมเจรจาปิดดีลพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หวั่นช้าต่างชาติถอนตัว! “พิชัย” ชี้หากขุดเจาะสำเร็จเงินหมุนเวียนไหลเข้าไทยปีละ 1 ล้านล้านบาท ลดนำเข้า LNG กดต้นทุนค่าไฟฟ้าเหลือ 2 บาทกว่า ขณะที่กลุ่มปตท.พร้อมเปิดหลุมแหล่งก๊าซ OCA ผลิตได้ภายใน 5 ปี บล.กรุงศรี เชียร์ “ซื้อ” หุ้นกลุ่มปตท. PTTEP-ไฟฟ้า GULF-GPSC และสื่อสาร ADVANC-TRUE รับอานิสงส์แหล่งพลังงานแห่งใหม่


นายคุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) เปิดเผยว่า รัฐบาลควรเร่งเจรจาเพื่อหาข้อตกลงด้านพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา (Overlapping Claims Areas หรือ OCA) ระหว่างสองประเทศ โดยควรเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) และมีหลายหน่วยงานเข้ามาร่วม ทั้งกระทรวงพลังงาน ฝ่ายทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพเรือ เพื่อช่วยดูแลในมิติเรื่องแผนที่ในทะเล รวมถึงมีผู้แทนกระทรวงกลาโหมจะทำให้การเจรจาทำได้ครบทุกมิติมากขึ้น

“การเจรจาพื้นที่ OCA ควรรีบเร่ง ซึ่งปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน 52 ปีมาแล้ว ประกอบกับกระแส Net Zero การเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำให้ประเทศรอไม่ได้ เพราะนักลงทุนต่างประเทศอาจถอนตัว เพราะยังไม่เห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ และหากในอนาคตนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งเกิดความเสี่ยง นอกจากนี้รัฐควรเร่งเปิดสัมปทานรอบใหม่อย่างต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกัน มองว่ารัฐบาลควรสานต่อบันทึกความเข้าใจ (MOU 2544) ที่ได้ลงนามไว้ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ทั้งนี้ MOU 2544 ได้เขียนไว้ว่า การเร่งรัดการเจรจาพื้นที่ OCA จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ “พร้อมกัน” ทั้งการจัดทำความตกลงสำหรับพื้นที่ JDA และการตกลงแบ่งเขตที่สามารถยอมรับได้ ร่วมกันในทะเลอาณาเขตไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจ ส่วนที่มีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 นั้น ส่วนตัวเห็นว่า MOU 2544 ยังเป็นประโยชน์ เพราะเป็นกรอบให้ไทยและกัมพูชาได้เจรจากันบนพื้นฐานกรอบข้อตกลงที่วางไว้ได้

ดังนั้น รัฐบาลควรเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย ทั้งกรรมาธิการ, สส., สว., นักวิชาการ รวมถึงฟังกลุ่ม NGO และฝ่ายค้าน โดยอยู่บนหลักของเหตุและผลเพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลได้พยายามแสดงเจตนารมณ์ให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และลบล้างข้อกล่าวหาว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน

ทั้งนี้ มองว่าการเจรจาเพื่อหาข้อสรุปพื้นที่ OCA มีความล่าช้ามายาวนาน หรือกว่า 50 ปี ด้วยเหตุผลต่าง ๆ และหากยืดเยื้อออกไปอีก จะส่งผลกระทบตามมา ปัจจุบันปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและในแหล่งเมียนมาเริ่มลดลงไปเรื่อย ๆ

ขณะที่ความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จนทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยในปี 2566 มีสัดส่วนถึง 33% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดประมาณ 4,200-4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เทียบกับปี 2558 เพียง 5% เท่านั้น ซึ่งการนำเข้า LNG รัฐจะไม่ได้ค่าภาคหลวงและภาษีปิโตรเลียม เหมือนกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีการก่อสร้างคลังเพื่อรองรับการนำเข้า LNG มากถึง 19 ล้านตัน และเมื่อรวมกับคลังใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมเป็น 26-27 ล้านตัน ดังนั้นการปล่อยให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ และหากราคาแพงก็ไม่มีเอกชนรายใดอยากนำเข้า ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในการจัดหา นอกจากจะมีราคาที่ผันผวนแล้ว รัฐยังไม่ได้ค่าภาคหลวงหรือภาษีอีกด้วย และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนให้แพงขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็ยังเป็นหนี้ค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกือบ 1 แสนล้านบาท

นายคุรุจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ OCA เป็นแหล่งที่มีโอกาสสำรวจพบก๊าซธรรมชาติได้สูง เมื่อค้นพบแล้วก็สามารถเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติของปตท.ที่อยู่ห่างแหล่ง OCA เพียง 50-100 กิโลเมตรเท่านั้น โดยจะใช้เวลาวางท่อเพียง 4 เดือน ก็สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้เลย โดยปัจจุบันไทยมีท่อก๊าซฯ 3 เส้น รองรับก๊าซฯ ได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในอ่าวไทยปัจจุบันผลิตได้ไม่ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นหากมีก๊าซธรรมชาติที่มาจาก OCA จะทำให้เกิดการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเต็มศักยภาพมากขึ้น

 ปั๊มเงินเข้าไทยปีละ 1 ล้านล้าน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การเจรจาพื้นที่ OCA เพื่อนำทรัพยากรในทะเลมาแบ่งปันผลประโยชน์ ควรเจรจาให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว เพราะการนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ต้องใช้เวลา 2-7 ปี โดยเมื่อเจรจาสำเร็จจะเข้าสู่ขั้นตอนการขุดเจาะและเดินท่อก๊าซฯ รวมทั้งไทยมีความพร้อมทั้งโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ต้องแยกสัดส่วนการใช้งาน ซึ่งไทยมีท่อก๊าซฯ เดินไว้แล้ว และจะเพิ่มมูลค่าได้ 6-20 เท่า ดังนั้นเชื่อว่าจะเจรจาได้ข้อสรุปภายในรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยกัมพูชาต้องการเจรจาให้สำเร็จเช่นกัน เพื่อให้ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย

ทั้งนี้ ถ้าเจรจาสำเร็จจะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกลง เพราะต้นทุนผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 2 บาทเศษ ซึ่งทรัพยากรบนพื้นที่ทับซ้อนอย่างต่ำมีถึง 10 ล้านล้านบาท จะต้องทยอยนำขึ้นมา  นอกจากนี้ยังเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยหากขุดเจาะสำเร็จจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นพื้นที่ที่ใกล้แหล่งก๊าซฯ ที่มีศักยภาพในอ่าวไทย เช่น แหล่งเอราวัณ

“ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชามีปริมาณมาก ซึ่งจะมากกว่าหรือเท่ากับแหล่งเดิมในอ่าวไทยที่ไทยใช้มา 30 ปี คาดกันว่ามีมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ทั้งนี้จะเจรจาเฉพาะการแบ่งพลังงานและไม่เจรจาแบ่งดินแดนเพื่อหลีกเลี่ยงข้อขัดแย้งที่หาข้อยุติไม่ได้”

ขณะที่ ปริมาณก๊าซฯ จากอ่าวไทยและเมียนมาลดลงมาก อีกทั้งเมียนมามีความขัดแย้งในประเทศและมีการวางระเบิดท่อส่งก๊าซฯ จึงมีโอกาสให้ปริมาณก๊าซฯ จากเมียนมาลดลง รวมทั้งราคาก๊าซฯ จากอ่าวไทยและเมียนมาถูกกว่าราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้ามาก

สำหรับก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ทับซ้อนเป็นก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่นำเข้าโรงแยกก๊าซฯ และใช้ในธุรกิจปิโตรเคมีได้ ซึ่งไทยมีโรงแยกก๊าซฯ 6 แห่ง อีกทั้งมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขนาดใหญ่รองรับ ซึ่งการนำก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่ทับซ้อนจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ 6-20 เท่า

โดยรัฐจะได้ค่าภาคหลวงมาแบ่งกันระหว่างไทยและกัมพูชา โดยในอดีตรัฐเคยเก็บค่าภาคหลวงได้ถึงปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท และยังไม่นับธุรกิจต่อเนื่องทั้งธุรกิจขายก๊าซ ธุรกิจปิโตรเคมี โรงงานพลาสติก ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและจ่ายภาษีให้รัฐ

 PTTEP พร้อมลุย OCA

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยว่า ปตท.พร้อมช่วยรัฐบาลทุกช่องทาง เพื่อผลักดันการพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ OCA เพื่อให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการดังกล่าวจะดำเนินการในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล G to G

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า ปตท.สผ.พร้อมในการดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชามาก่อนหน้า เนื่องจากปตท.สผ.มีโครงการ G1/61 หรือแหล่งเอราวัณใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว หากรัฐบาลสองชาติตกลงกันได้ และเปิดให้สำรวจและพัฒนาฯ คาดว่าจะนำก๊าซฯ ขึ้นมาได้ (First Gas) ภายใน 5 ปี ซึ่งเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลาในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) นานถึง 9 ปี

เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น ทำให้การสำรวจและผลิตทำได้รวดเร็วขึ้นนอกจากนั้น ปตท.สผ.ยังมีโครงข่ายท่อส่งก๊าซฯ ที่ก๊าซฯ จาก OCA สามารถใช้ท่อส่งก๊าซฯ เดียวกับแหล่งเอราวัณ เพื่อลดการลงทุน เพราะท่อก๊าซฯ ดังกล่าวรองรับได้อยู่แล้ว และสะดวกต่อการขนส่งมาไทย ไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

สำหรับพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) ว่าทั้งสองประเทศจะมีการพัฒนาร่วมกัน เช่นเดียวกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ซึ่งตกลงร่วมกันโดยไม่แบ่งแยกเขตแดน แต่สามารถสำรวจและผลิตร่วมกันได้

ทั้งนี้ ปตท.สผ.พร้อมดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ G1/61 ที่อยู่ใกล้พื้นที่ดังกล่าวอยู่แล้ว ซึ่งหากภาครัฐสามารถตกลงกันได้ และเปิดให้สำรวจพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา หรือ OCA คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการสำรวจและผลิตไม่นาน คาดมี First Gas ได้ภายใน 5 ปี จากเดิมต้องใช้เวลานานถึง 9 ปี เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนามากขึ้น จึงสามารถดำเนินการสำรวจและผลิตได้รวดเร็วขึ้น จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้ง 2 ประเทศ

“ปตท.สผ.ประเมินศักยภาพก๊าซฯ พื้นที่ OCA แต่ทั้งนี้พื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีการสำรวจที่ผ่านมา แต่เพราะอยู่ใกล้โครงการ G1/61 จึงเชื่อว่ามีศักยภาพก๊าซฯ อย่างแน่นอน หากสามารถพัฒนาได้ เชื่อว่าจะใช้ระยะเวลาไม่นานเหมือนกับที่ผ่านมา” นายมนตรี กล่าว

 หุ้นกลุ่มปตท.-กัลฟ์ตีปีก

นายกรภัทร วรเชษฐ์ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา (OCA) สำเร็จ ได้แก่ กลุ่มปตท. ที่ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP โดยปตท.สผ.ในฐานะพลังงานต้นน้ำ จะรับประโยชน์โดยตรง

ส่วนหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบค่าก๊าซธรรมชาติก็จะลดลง หากได้แหล่งใหม่มาเพิ่มในระบบ POOL GAS นอกจากนี้ยังมีหุ้นเกี่ยวกับดาต้าเซ็นเตอร์ หลังจากมีซัพพลายไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE

Back to top button