ล่าช้ากว่าแผน! “มนพร” สั่ง “กทท.” จี้ผู้รับเหมาเร่งส่งงาน”แหลมฉบัง เฟส 3″ ส่วนแรก มิ.ย.69

"แหลมฉบัง เฟส 3" คืบหน้า 45.09% ล่าช้ากว่าแผนตั้งเป้า 48.95% ด้าน "มนพร" สั่ง “กทท.” จี้ผู้รับเหมาเร่งส่งงานส่วนแรกตามกรอบกำหนดมิ.ย.69


นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ว่า ในส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2567) ดำเนินงานได้ 45.09% จากแผนปฏิบัติ 48.95% ล่าช้ากว่าแผน 3.86%

โดยสาเหตุความล่าช้านั้น เนื่องจากการดำเนินงานของโครงการเป็นงานทางทะเลนอกชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยงานก่อสร้างคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเลชนิดแกนทรายเป็นส่วนใหญ่ โดยช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงมรสุมของพื้นที่แหลมฉบัง (เดือนเมษายน-เดือนพฤศจิกายน) ทำให้มีคลื่นลมแรง และเกิดปัญหาอุปสรรคในการก่อสร้าง ผู้รับจ้างจึงไม่สามารถดำเนินงานได้ตามแผนงาน

นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้กำชับ กทท. ประสานไปยังผู้ควบคุมงาน และผู้รับเหมา หรือกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท  พริมา มารีน จำกัด (มหาชน), บริษัท นทลิน จำกัด และ บริษัท จงก่าง คอนสตรั๊คชั่น กรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) ให้เร่งรัดการดำเนินงาน รวมถึงวางแผนแก้ไขปัญหาโดยการให้ผู้รับจ้างเพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ผู้รับจ้างเร่งดำเนินงานในช่วงที่คลื่นลมสงบ และให้ผู้รับจ้างปรับขั้นตอนการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ รวมถึงให้ผู้รับจ้างพิจารณาเพิ่มเครื่องจักรทางทะเล เพื่อแก้ไขความล่าช้าดังกล่าว

ขณะเดียวกัน กทท. ได้เร่งรัดการทำงานของผู้รับจ้างให้แล้วเสร็จพร้อมส่งมอบพื้นที่ถมทะเลพื้นที่ 3 ได้ภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยต้องเร่งให้ได้เนื้องานเพิ่มขึ้นเดือนละ 3.00 – 3.50% และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน พร้อมส่งมอบงานก่อสร้างส่วนที่ 1 ได้ภายในมิถุนายน 2569 รวมถึงจะไม่กระทบกับสัญญาของบริษัทเอกชนคู่สัญญาสัมปทานบริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) ที่ปัจจุบันพื้นที่ F1 ถมทะเลเรียบร้อยแล้ว พร้อมส่งมอบให้ GPC ได้ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570

“ได้มอบหมายให้ กทท. เร่งรัดการดำเนินการโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ให้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลา ซึ่งจากการรายงานของ กทท. พบว่า ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังคงล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ได้มีข้อแนะนำให้ กทท. กำชับทางผู้รับเหมา และผู้ควบคุมงาน ให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติงาน และวางแผนการแก้ไขปัญหาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถส่งมอบงานตามแผนที่กำหนดไว้” นางมนพร กล่าว

ด้านนายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่า สำหรับงานส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการฯ ร่วมกับบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ไปเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันอยู่ระหว่างบริษัทฯ เตรียมงานก่อนการก่อสร้าง ทั้งในส่วนของการขออนุญาตส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง การตรวจสอบหมุดหลักฐานอ้างอิง (Bench mark) และการเจาะสำรวจทางธรณีวิทยา (Soil Investigation) เป็นต้น

ขณะที่งานส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568

อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ซึ่งหากโครงการแล้วเสร็จจะสามารถรองรับและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า จาก 11 ล้าน ทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้าน ทีอียูต่อปี

สำหรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น สืบเนื่องจาก รัฐบาลที่ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ถือเป็นหนึ่งในกลไกหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ เชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) และประเทศจีนตอนใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาค รวมถึงยังช่วยสนับสนุนการลดต้นทุนการขนส่งโดยรวมของประเทศ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ มุ่งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งของภูมิภาคต่อไป

Back to top button