คัด 12 หุ้น รับประโยชน์ “ต่างชาติ” ลงทุนไทย 9 เดือน ทะลุ 7.2 แสนล้าน
บีโอไอ เปิดตัวเลขต่างชาติลงทุนไทย 9 เดือนทะลุ 7.2 แสนล้านบาท พบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ - Data Center นำการเติบโต โบรกมีมุมมองบวก 12 หุ้นเด่น WHA-WHAUP-AMATA- ADVANC- TRUE- INTUCH- THCOM- GULF-GPSC- BE8-BBIK- BGRIM
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยข้อมูลว่า 9 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม – กันยายน) ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน โดยมีจำนวน 2,195 โครงการ เพิ่มขึ้น 46% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
ขณะที่ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.) อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่า 183,444 ล้านบาท, 2.) ดิจิทัล มูลค่า 94,197 ล้านบาท 3.) ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 67,849 ล้านบาท, 4.) เกษตร และ แปรรูปอาหาร มูลค่า 52,990 ล้านบาท และ 5.) ปิโตรเคมี และ เคมีภัณฑ์ มูลค่า 34,341 ล้านบาท
ทั้งนี้ กิจการที่มีการลงทุนสูงและมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ 3 อันดับ ได้แก่ 1.) Data Center จำนวน 8 โครงการ เงินลงทุนรวม 92,764 ล้านบาท 2.) กิจการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง จำนวน 15 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,856 ล้านบาท, 3.) กิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และ วัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 55 โครงการ เงินลงทุนรวม 61,302 ล้าน
ข่าวดังกล่าวสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่าจากกระแส ยอดส่งเสริมลงทุนจากต่างประเทศ หรือ FDI ในประเทศไทยดีขึ้น โดยรอลุ้นเม็ดเงินไหลเข้าต่อเนื่องซึ่งวานนี้ BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน ปี 2567 เติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 722,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน (FDI) เติบโตอยู่ที่ 546,617 ล้านบาท เติบโต 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสนับสนุนตัวเลขลงทุนปี 2567 พุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี
สำหรับการออกบัตรส่งเสริมซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยปกติบริษัทต่างๆ จะเริ่มทยอยลงทุนภายใน 1-3 ปี หลังจากออกบัตรส่งเสริม ซึ่งข้อมูลล่าสุดช่วง 9 เดือน ปี 2567 มีเงินลงทุน 672,165 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 101% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนถือเป็นอีกหนึ่ง LEADING INDICATOR สะท้อนเม็ดเงินการลงทุนจริงที่จะเข้ามามีแนวโน้มดีขึ้นในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่มีทั้ง เซมิคอนดักเตอร์, อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง, ดิจิทัลยานยนต์ไฟฟ้า และ พลังงานหมุนเวียน โดยฝ่ายนักวิจัยฯ มองเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA, บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP, บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE, บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH, บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ ภายหลัง BOI เปิดเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน 9 เดือน สูงกว่า 2 พันโครงการ มูลค่า กว่า 722,528 ล้านบาท เติบโต 42% สูงสุดรอบ 10 ปี โดย 3 อันดับอุตสาหกรรม คือ อิเล็กทรอนิกส์ และ เครื่องใช้ไฟฟ้า อยู่ที่ 25%, ดิจิทัล อยู่ที่ 13%, ยานยนต์ และ ชิ้นส่วน อยู่ที่ 9%
ขณะที่ FDI เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์ คือ หุ้นนิคมอุตสาหกรรมจากการขายที่ดินและให้บริการด้านสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) อาทิ WHA, WHAUP ส่วนหุ้นโรงไฟฟ้าจะมีรายได้จากการขายไฟที่มากขึ้น โดยมองหุ้น อาทิ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และ GULF เป็นต้น
ส่วน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุถึงกรณี BOI เช่นเดียวกัน โดยการเปิดเผยยอดตัวเลขดังกล่าว หากมองเฉพาะงวดไตรมาส 3/2567 ยอดดังกล่าวสูงถึง 783 โครงการ ซึ่งมีมูลค่า 2.64 แสนล้านบาท เติบโต 49.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14.8% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยจุดน่าสนใจ คือ มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เข้ามาเร่งขึ้นชัดเจนใน 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 9.27 หมื่นล้านบาท เปรียบเทียบกับช่วง 6 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท
โดยฝ่ายนักวิจัยฯ มองเกิดจากการเร่งเข้ามาธุรกิจ Data Center ซึ่งมองการเร่งลงทุนไตรมาส 3/2567 นั้นตอกย้ำภาพบวก Upcycle ของการลงทุน Data Center ที่มีจำนวนมากในหลายปีข้างหน้าจากการรวบรวมข้อมูล KSS ประเมินกำลังให้บริการ Data Center ในไทยช่วง 4-5 ปีข้างหน้าจะขยายตัวเฉลี่ยปีละ 45-50% ขณะที่ตลาดโลกอยู่ที่ราว 8-10% ทั้งนี้มองเป็นปัจจัยสนับสนุนหุ้นในธีม Infra Tech ต่อเนื่อง ระยะสั้นมองหุ้นเด่นในธีมนี้ คือ ADVANC, GULF, GPSC, WHA, บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8 และ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์ แนะนำ “ซื้อ” WHA ราคาพื้นฐาน 6.55 บาท โดยผู้บริหารปรับเป้ายอดขายปี 67 เพิ่มขึ้นที่ 2,500 ไร่ หากเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกขายได้ 1,042 ไร่ ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังจะสามารถทายอดขายที่ดินได้สูงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก และคาดการณ์ว่าจะเข้ามาสูงที่สุดในปีช่วงไตรมาส 3/67 ซึ่งมี big lots เป็นลูกค้ารายใหญ่ ทางฝ่ายฯคาดว่าลูกค้าจะอยู่ในกลุ่ม Data center เจ้าใหญ่ของโลก และยังมี lots ที่ 2 อีกกว่า 600 ไร่ คาดการณ์ว่าจะเข้ามาอีกในปีหน้า ขณะที่ทางฝ่ายนักวิจัยฯ ปรับกำไรปี 67 เพิ่มขึ้น 8% อยู่ที่ 5,544 ล้านบาท
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุผ่านบทวิเคราะห์แนะนำ “ซื้อ” ADVANC ราคาเหมาะสมปี 2568 อยู่ที่ 270 บาท ภายหลังความร่วมมือระหว่าง ADVANC-GULF-Singtel มุ่งหวังที่จะเปิดตัว Data center tier-3 ขนาด 20MW ในไตรมาส 1/2568 ซึ่งฝ่ายนักวิจัยฯ คาดการณ์ว่ากลยุทธ์นี้จะช่วยหนุนกำไรระยะยาวของ ADVANC ประมาณ 1-2%
โดย Data center นี้จะมีเทคโนโลยีขั้นสูง ความปลอดภัยสูง และการจัดการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ กลุ่มความร่วมมือยังมีแผนสำหรับเฟสที่สอง (บนที่ดินเดียวกัน) เมื่อเฟสที่หนึ่งมีการใช้งานเต็ม นอกจากนี้ ความร่วมมือของ GULF กับ Google เพื่อพัฒนาบริการคลาวด์ GDC air-gapped ในประเทศไทยจะช่วยเสริมบริการคลาวด์ของ ADVANC ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และสร้างความเชื่อมั่นในตลาด ซึ่งอาจจะช่วยหนุนราคาหุ้นของบริษัทช