พิพัฒน์ ผุดไอเดีย ซื้อ “ประกันเอกชน” คุ้มครองค่ารักษา “ผู้ประกันตน” แทน

“พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน เตรียมหารือ สปส. ซื้อประกันสุขภาพบริษัทเอกชน ให้คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ประกันตนแทน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 ต.ค.67) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในงาน “การประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับกองทุนประกันสังคม” ว่า ประเด็นที่โรงพยาบาลเอกชนร้องเรียนเรื่องอัตราการจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่ช่วงปลายปีจะลดจาก 12,000 บาทต่อหน่วย เหลือ 7,000-8,000 บาทนั้น ทางปลัดกระทรวงแรงงานและเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมถึงคณะกรรมการประกันสังคมได้หารือกันมาตลอด โดยในวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการประชุมคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ (เฉพาะกิจ) และปลัดกระทรวงแรงงานก็กำลังดำเนินการประชุมกับโรงพยาบาลต่างๆ

นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตนได้ปรึกษากับปลัดกระทรวงแรงงานและเลขาธิการ สปส. ว่า หลังจากนี้เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะให้ทางประกันสังคมซื้อประกันสุขภาพของบริษัทประกันภัย (เอกชน) แทนการจ่ายเป็นรายกรณี ก็จะเป็นการเหมาจ่ายให้กับบริษัทประกันฯ โดยบริษัทประกันฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบต่อผู้ประกันตน ซึ่งตนกำลังเสนอแนวคิดนี้ไปยังบอร์ดประกันสังคมเพื่อพิจารณา หากเป็นไปได้ต้องขอไปแก้พระราชบัญญัติ (พรบ.) ประกันสังคม และเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจะช่วยให้กำหนดการใช้จ่ายได้ (Fix Cost) ทำให้รู้ว่าในแต่ละปีต้องจ่ายเท่าไหร่

ด้าน นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการประกันสังคม ฝ่ายผู้ประกันตน กล่าวว่า ตามที่รมว. กระทรวงแรงงานได้เสนอแนวคิดว่าด้วยการให้ทางประกันสังคมซื้อประกันของบริษัทประกันฯ และให้ทางบริษัทประกันฯ เป็นผู้รับผิดชอบนั้น เป็นเพียงอีกทางเลือกหนึ่งที่บอร์ดประกันสังคมจะพิจารณาในเรื่องของการควบคุมค่าใช้จ่ายตรงนี้ แต่ส่วนตัวแล้วยังไม่เห็นรายชื่อรพ. เอกชนที่จะถอนตัวออกจากการเป็นคู่สัญญากับประกันสังคม และมองว่ามีสัดส่วนรพ. เตรียมเข้าเป็นคู่สัญญามากกว่าถอนตัว

โดย นายษัษฐรัมย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้คณะกรรมการประกันสังคมให้อนุมัติสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนในมาตรา 33 และ 39 ให้ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร อายุ 0-6 ปี ของผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 จาก เดิม 800 บาทต่อเดือน เป็น 1,000 บาท ซึ่งจะมีเด็กราว 1.02 ล้านคนที่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้

ขณะที่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ร่วมกับ สำนักงานประกันสังคม จัดทำโครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ประกันตน พ.ศ.2567 กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 5 ปีแรก เพียง 1.59% ต่อปี ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33, 39 หรือ 40 ที่ต้องการซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือก่อนกำหนดระยะเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นหนึ่งในแผนการลงทุนนอกยุทธศาสตร์ของประกันสังคม

นอกจากนี้ บอร์ดประกันสังคมยังอยู่ระหว่างการดำเนินงานเพิ่มเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตนในมาตรา 40 จากการขาดรายได้จากการตั้งครรภ์สูงสุด 3,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลา 3 เดือน และเพิ่มค่าเดินทางจาก 50 บาท เป็น 200 บาทในการพบแพทย์และยังมีเงินชดเชยให้กับทุพพลภาพตลอดชีวิต

Back to top button