โลกร้อน-การค้าเข้มงวด! เสี่ยงฉุด “ส่งออกเกษตร-อาหารไทย” ทรุดกว่า 15%

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” แนะผู้ประกอบการเร่งปรับตัว “ส่งออกสินค้าเกษตร-อาหารไทย” เสี่ยงลดลงต่ำกว่า 15% จากภาวะโลกเดือดและมาตรการเข้มงวดทางการค้า


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ (24 ต.ค. 67) ว่า ปัจจุบันอุณหภูมิโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) คาดการณ์อุณหภูมิอาจเพิ่มเป็น 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2570 ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลกจาก 180 ประเทศ

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change จะส่งผลกระทบกับ ภาคเกษตรและอาหารของไทย อาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากผลผลิตผันผวน และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของคู่ค้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตเกษตรของไทยให้มีความเสี่ยงมากขึ้นจากที่เคยได้เปรียบ สะท้อนจากพืชเศรษฐกิจของไทย อย่าง ข้าวและอ้อย ที่มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกันราว 60% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด แต่ผลผลิตต่อไร่ (Yield) กลับยังน้อยกว่าคู่แข่งหลัก อีกทั้งมีแนวโน้มผันผวนและลดลงตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดถี่และรุนแรงขึ้น

ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน แม้ว่าผลผลิตต่อไร่จะมากกกว่าคู่แข่ง แต่ช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรงในช่วงปี 2557-2559 พบว่าผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยลดลง 12% เมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วน ภาคประมง ก็ได้รับผลกระทบตามอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยจากการรายงานของ Marine Stewardship Council พบว่า ผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่เขตร้อนมีแนวโน้มลดลงสูงสุด 40% จากปริมาณผลผลิตปัจจุบันภายในปี 2593

นอกจากเกษตรกรจะได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ที่อาจลดลงแล้ว ยังรวมถึงธุรกิจกลางน้ำ-ปลายน้ำในอุตสาหกรรมอาหารราว 82,000 ราย ที่ต้องเผชิญการขาดแคลนวัตถุดิบ กระทบต่อเนื่องมายังต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลักในแทบทุกธุรกิจ โดยมีสัดส่วนเฉลี่ยราว 40-70% ของต้นทุนรวมให้ขยับสูงขึ้นด้วย และส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นบางประเภทปรับขึ้นราคาตามต้นทุน หรืออาจถูกจำกัดการซื้อจากผลผลิตที่ไม่เพียงพอ เช่น น้ำมันพืช และน้ำตาลทรายขาว เป็นต้น

ศูนย์วิจัยฯ ยังชี้ว่า นอกจากผลผลิตจะมีความผันผวน จนทำให้เหลือส่งออกได้น้อยลงแล้ว ไทยยังมีความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกรวมกันเกือบ 20% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด

โดยเฉพาะยุโรป ที่ออกมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ยุทธศาสตร์ Farm to Fork ที่ผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารต้องลดการใช้สารเคมี, กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ โกโก้, กาแฟ, ถั่วเหลือง, น้ำมันปาล์ม, เนื้อวัว, ยาง และไม้

ปัจจุบันไทยมีผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารอยู่ราว 17,000 ราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ คงจะเป็นสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยเฉพาะกลุ่มผักผลไม้แปรรูป รวมถึงกลุ่มอาหารทะเลและเนื้อสัตว์แปรรูป เพราะพึ่งพาตลาดส่งออกมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ มีสัดส่วนการส่งออกต่อผลผลิตในประเทศสูงมากกว่า 50% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารขั้นกลางน้ำ-ปลายน้ำ ที่ราว 31%

โดยปัจจุบันไทยพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร มูลค่าราว 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ถือเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน เป็นรองแค่อินโดนีเซียเท่านั้น อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แม้จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณผลผลิตที่จะส่งออกได้อาจมีไม่เพียงพอ รวมถึงยังต้องเผชิญกฎระเบียบและมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเสี่ยงลดลงต่ำกว่า 15% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกเหนือจากปัจจัยความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง และผู้ประกอบการไทยบางส่วนเข้าไปลงทุนใกล้ตลาดส่งออกมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมองว่า การดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้นของคู่ค้า จะยิ่งเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรและอาหารของไทยต้องเริ่มปรับตัว ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม แต่หากไม่ปรับเลย ก็อาจต้องเผชิญบทลงโทษจากคู่ค้า เช่น การเก็บภาษีคาร์บอน การลดและยกเลิกคำสั่งซื้อ เป็นต้น        

“ในอีกมุมหนึ่งแม้ต้นทุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมจะเพิ่ม แต่หากผู้ประกอบการเริ่มทำแต่เนิ่น ๆ ในระยะยาวก็จะเป็นแต้มต่อทางการค้าและมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มเติม โดยเฉพาะตลาดที่เข้มงวดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งผู้ประกอบการคงต้องชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าระหว่างต้นทุนในการปรับตัว กับต้นทุนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ต้องจ่าย รวมถึงความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” บทวิเคราะห์ของศูนย์วิจัยฯ ระบุในตอนท้าย

Back to top button