สภาฯ ยกเคส “ดิไอคอน” ถกญัตติด่วนแก้ปัญหา “แชร์ลูกโซ่”
สภาฯ รับญัตติด่วนแก้ปัญหาแชร์ลูกโซ่ เร่งปรับปรุงกฎหมาย 3 ฉบับ หวังป้องกันประชาชนไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอย “ดิไอคอน”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 24 ต.ค. 67 พิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่อง ขอให้สภาฯ พิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาธุรกิจขายตรงซึ่งเป็นการฉ้อโกงประชาชน เสนอโดยนายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สส.เลย พรรคเพื่อไทย และญัตติของนายเอกราช อุดมอำนวย สส.กทม.พรรคประชาชน ที่ให้สภาฯ พิจารณาตั้ง กรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อศึกษาและแก้ไขกฎหมาย เพื่อป้องกันปัญหาหาธุรกิจขายตรงหรือการตลาดขายตรง ลักษณะเกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน หรือแชร์ลูกโซ่
นายเลิศศักดิ์ อธิปรายเหตุผลในการเสนอญัตติโดยสรุปกล่าวว่าว่า ตามข่าวกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่จดทะเบียนธุรกิจตลาดแบบตรง ซึ่งมีดารานักแสดงในวงการบันเทิงเป็นพรีเซ็นเตอร์ สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า จนทำให้มีประชาชนร่วมลงทุนหลายแสนคน สร้างมูลค่าและทรัพย์สินให้กับเจ้าของ ดารานักแสดงที่ชักชวนให้ร่วมลงทุนจำนวนมาก แต่ตัวแทนไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ร่วมลงทุนจำนวนมาก รวมมูลค่าหลายร้อยล้านบาท จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารอบคอบ เพื่อหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป ตนเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทดิไอคอน อาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1.พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 มาตรา 19, 2. พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ 3.พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527
ด้าน นายเอกราช อภิปรายว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการมักใช้ช่องโหว่จากกฎหมายที่มีอยู่ไปหลอกลวงประชาชน โดยเอาผลประโยชน์มาตอบแทน ล่อซื้อให้มาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ มีข่าวเกิดขึ้นทำนองนี้จำนวนมาก เช่น Forex 3D, แชร์แม่ชม้อย แชร์ซินแสต่า งๆ ซึ่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับประชาชน เป็นเพราะกฎหมายที่อ่อนเกินไป ถึงเวลาแล้วที่สภาฯ ต้องทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อปกป้องสิทธิประชาชนได้ดีที่สุด
ทั้งนี้สมาชิกในที่ประชุมได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว และเห็นด้วยที่จะให้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจขายตรง หรือแชร์ลูกโซ่ให้ทันกับยุคสมัย เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงลงทุนในลักษณะดังกล่าว ท้ายสุดที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งญัตติดังกล่าวให้กับ กมธ.ป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดของสภาฯ โดยให้พิจารณาเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน