“ชวนลงทุนแบบไหน? ถูกกฎหมาย ก.ล.ต.”

“ถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม” คุณผู้อ่านนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกคะ? ดิฉันเชื่อว่า “การลงทุน” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายคนสนใจ


“ถ้าอยากมีรายได้เพิ่ม” คุณผู้อ่านนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรกคะ? ดิฉันเชื่อว่า “การลงทุน” เป็นตัวเลือกหนึ่งที่หลายคนสนใจ สะท้อนได้จาก “เสียงชักชวนลงทุน” ที่มีมากมายในปัจจุบัน โดยระดับการเชิญชวนก็มีตั้งแต่คำพูดที่ธรรมดา ไปจนถึงภาษาที่หวือหวาจนต้องร้องเอ๊ะ เช่น การันตีผลกำไรสูง ลงทุนง่ายไม่ต้องมีความรู้ โอกาสพิเศษเฉพาะคุณเท่านั้น!

โลกของการลงทุนเปรียบเสมือนสมรภูมิที่เต็มไปด้วยโอกาสและความเสี่ยง ผู้ลงทุนมีทางเลือกหลากหลาย โดยประเภทที่คุ้นเคยหรือได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น การลงทุนหุ้น ซึ่งผู้ลงทุนเหมือนได้เป็นเจ้าของบริษัทตัวจริง การลงทุนในกองทุนรวมต่าง ๆ ที่มีมืออาชีพดูแลการเงินให้ และถ้าผู้ลงทุนคนไหนอยากได้รายได้แบบสม่ำเสมอและรับความเสี่ยงได้บ้าง ก็เลือกลงทุนในตราสารหนี้อย่างหุ้นกู้ได้ ในตลาดที่เต็มไปด้วยข้อมูลและคำชักชวนให้ลงทุน “เสียงไหนล่ะ?” ที่ผู้ลงทุนควรเลือกรับฟัง

สำหรับรูปแบบการชักชวนลงทุน มีตั้งแต่การให้คำแนะนำส่วนบุคคล การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การส่งเอกสารเสนอขาย การจัดอบรมสัมมนา ตลอดจนการจัดนิทรรศการและงานอีเวนต์ นอกจากนี้ “การชักชวนลงทุน ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย” ก็สามารถทำได้และได้รับความนิยมในปัจจุบัน ทั้งการผลิตเนื้อหาวิดีโอและการไลฟ์สด

แต่การชักชวนลงทุน ไม่ใช่ใครก็ทำได้! ภายใต้กฎหมายของ ก.ล.ต. จึงได้มีการกำหนดคุณสมบัติไว้ ยกตัวอย่าง หากทำธุรกิจเป็นตัวกลางการซื้อขายหลักทรัพย์ เช่น ชักชวน แนะนำ ชี้ช่อง ให้คนมาลงทุนในหุ้นหรือรับคำสั่งซื้อขายหุ้น ลักษณะนี้จะเข้าข่ายการประกอบธุรกิจเป็น “นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ หรือที่คุ้นหู้กันในชื่อโบรกเกอร์” ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ก่อน จึงจะประกอบธุรกิจได้ หรือกรณีมีผู้ชักชวนให้จ่ายค่าสมาชิกหรือเสียเงินสมัครเพื่อรับบริการ การให้คำแนะนำมูลค่า ราคาของหลักทรัพย์ หรือความเหมาะสมในการลงทุน เช่น หุ้นตัวนี้ ควรซื้อหรือขาย ราคาที่เหมาะสมเป็นอย่างไร ก็อาจเข้าข่ายต้องได้รับอนุญาตการเป็น “ที่ปรึกษาการลงทุน”

คุณสมบัติของผู้ชักชวนลงทุน หรือ ผู้แนะนำการลงทุน นอกจากเป็นคนที่ต้องขึ้นทะเบียนกับ ก.ล.ต. แล้ว ยังต้องปฏิบัติงานภายใต้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ด้วย นั่นหมายความว่า ผู้ชักชวนลงทุนจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้แทนของ บล. หรือ บลจ. ซึ่งในเวลาเดียวกัน บล. และ บลจ. เป็นเหมือน “พี่เลี้ยง” ที่คอยควบคุมและตรวจสอบการทำงานของผู้ชักชวนลงทุน

อย่างที่บอกไป บล. และ บลจ. ต้องเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและจัดตั้งตามกฎหมายไทย มีความพร้อมในด้านเงินทุน โครงสร้างองค์กร บุคลากร ระบบบริหารความเสี่ยง รวมถึงการจัดการธุรกิจที่โปร่งใส

มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านบางท่านก็อาจมีคำถามว่า “ถ้าผู้ชักชวนลงทุนเป็นต่างชาติล่ะ?” ก็ขอระบุให้ชัดว่า “ต้องมาจดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคลในไทยและปฏิบัติตามข้อกำหนด” เพื่อมาขอรับใบอนุญาตตามกฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่นานมานี้ ก.ล.ต. ได้มีการสื่อสารเพื่อเน้นย้ำช่องทางการให้บริการแก่ผู้ลงทุนไทยของผู้ประกอบธุรกิจต่างประเทศ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขอบเขตการประกอบธุรกิจ รวมทั้งความชัดเจนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ไม่ได้รับอนุญาต โดยรายละเอียดเพิ่มเติม อ่านได้ที่นี่

ดิฉันเชื่อว่า สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกรับฟังเสียงชักชวนลงทุนจากผู้ที่ได้รับอนุญาต คือ การได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ การแนะนำเป็นไปตามมาตรฐาน มีจรรยาบรรณ และผู้ลงทุนมีสิทธิได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล เช่น ถ้าผู้ชักชวนลงทุน ที่เป็นผู้แทนของ บล. หรือ บลจ. กระทำผิด บล. หรือ บลจ. ต้นสังกัดก็จะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย เป็นต้น

เงื่อนไขทั้งหมดนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้จำกัดโอกาส แต่มุ่งมั่นทำหน้าที่คอยดูแลให้การชักชวนลงทุนเป็นไปอย่างโปร่งใส ซึ่ง “การฟังเสียงชักชวนลงทุนที่ถูกกฎหมาย” ไม่ใช่การปฏิบัติตามกฎระเบียบเท่านั้น แต่เป็นการเปิดประตูสู่โลกการลงทุนที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน: อาชินี ปัทมะสุคนธ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

Back to top button