เจาะ 3 บจ. ผ่าน “แบ็กดอร์” เข้าตลาดฯ บริหารธุรกิจพลิกฟื้น หนุนกำไรแกร่ง

ส่อง 3 บริษัทจดทะเบียน คือ A5-PROUD-S เข้าตลาดหุ้นไทยผ่าน Backdoor Listing สามารถพัฒนาพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตมีกำไรที่ดีต่อเนื่อง


ผู้สื่อข่าวรายงาน จากกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) นอกจากการระดมทุนขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วเป็นเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่งถือเป็นช่องทางปกติ แต่ยังมีอีกหนึ่งวิธี คือ กระบวนการเข้าจดทะเบียนทางอ้อมหรือที่เรียกว่า “Backdoor Listing”

โดยกระบวนการทำดีลมักจะให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) หรือบริษัทย่อย เข้าซื้อสินทรัพย์หรือหุ้นของบริษัทอื่นที่มิใช่บริษัทจดทะเบียน อาจมีทั้งซื้อโดยใช้เงินและเพิ่มทุนแลกหุ้นกัน แต่เมื่อคำนวณมูลค่าตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฎว่า สินทรัพย์ของบริษัทอื่นที่ได้มานั้นมีขนาดใหญ่กว่าสินทรัพย์เดิมของบจ. ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอำนาจการควบคุม จากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัทใหม่ เท่ากับว่าบริษัทใหม่นั้นสามารถเป็น บจ.โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามเกณฑ์คุณสมบัติ บจ.

สำหรับจุดเด่นคือการลดขั้นตอน ซึ่งน้อยกว่าการทำ IPO อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการตรวจสอบงบการเงิน ซึ่งหากใช้วิธี IPO ต้องผลประกอบการดี มีกำไร ได้มาตรฐานตามคุณสมบัติ ถึงจะผ่านการอนุมัติ

แต่ Backdoor Listing สามารถพรวดเข้าทางประตูหลังได้เลย ข้อดีอีกเรื่อง คือ ประหยัดต้นทุน เพราะ IPO ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินและมีค่าดำเนินการต่างๆ เฉลี่ยแล้วมากกว่า 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ส่วนมากมักจะเกิดขึ้นกับ บจ.ที่มีฐานะการเงินย่ำแย่ ธุรกิจปัจจุบันมีผลขาดทุนต่อเนื่อง หรือถูกห้ามซื้อขายเพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมถึงเข้าข่ายจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็น บจ.

โดยความง่ายของการเข้าตลาดหลักทรัพย์ผ่านวิธีดังกล่าว ถือเป็นการเปิดช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มนำบริษัทเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์มิชอบ รอจังหวะฉกฉวยโอกาส แสวงหาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ปั้นสตอรี่ปั่นราคาหุ้น แต่ธุรกิจไม่มีความโปร่งใสจริงใจ เมื่อความแตกจึงสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างไม่เฉพาะนักลงทุน แต่ยังลามถึงความน่าเชื่อถือของตลาดหุ้นไทยด้วย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อาทิ กรณีอื้อฉาวของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) และ บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) เป็นต้น ซึ่งมีอีกหลายบริษัทแม้อาจจะไม่ได้เป็นคดีความใหญ่โตเหมือน 2 บริษัทดังกล่าว แต่ก็สร้างความเสียหายได้เช่นกันโดยเฉพาะในแง่ราคาหุ้น จนสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ต้องปรับปรุงเกณฑ์แบ็คดอร์ให้มีความเข้มข้นไม่น้อยกว่าการทำไอพีโอ

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกไม่น้อยที่เข้าตลาดหุ้นไทยด้วยวิธีแบ็คดอร์และสามารถพัฒนาพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาเติบโตมีกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1.บริษัท แอสเซท ไฟว์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ A5 ทำการแบ็คดอร์ผ่าน บริษัท อาดามัส อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ADAM) เมื่อปี 2561 ซึ่งตอนนั้นเป็นบริษัทที่ถูกพักการซื้อขายและเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากผลการดำเนินงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ประสบผลขาดทุนต่อเนื่อง แต่หลังจากการเข้ามาของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่นำโดย นายศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจของ A5 ก็ดีวันดีคืน จนสามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนได้ และกลับเข้าซื้อขายอีกครั้งเมื่อ 7 มี.ค.65

โดยธุรกิจของ A5 เติบโตอย่างต่อเนื่อง ปี 65 ที่กลับเข้ามาซื้อขาย มีกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท ขณะที่ปี 66 มีกำไรสุทธิ 506 ล้านบาท เติบโตถึง 416% ส่วนงวด 6 เดือนปี 67 มีกำไรสุทธิ 310 ล้านบาท เติบโตระดับ 83% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

นายศุภโชค ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปี 67 จะเติบโตต่อเนื่องและดีกว่างวด 6 เดือนแรก ล่าสุดบริษัทมียอดขายรอโอนงานในมือ (Backlog) มูลค่ารวมประมาณ 1,100 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ทั้งหมดในปีนี้ และยังมีสินค้าพร้อมขายมูลค่ารวมประมาณ 800 ล้านบาท

2.บริษัท พราว เรียล เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PROUD ของกลุ่ม “ลิปตพัลลภ” ที่แบ็คดอร์ผ่าน บริษัท โฟคัส ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (FOCUS) เมื่อต้นปี 62 มีการปรับโครงสร้างการบริหารและธุรกิจนำโดย นายพสุ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหาร จากนั้นผลประกอบการบริษัทก็ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 65 พลิกมีกำไร 229 ล้านบาท ถือเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ขณะที่ปี 66 ก็ยังมีกำไรต่อเนื่องที่ 102 ล้านบาท ส่วนงวด 6 เดือนปี 67 ก็สามารถทำกำไรได้ระดับ 89 ล้านบาท และสามารถย้ายกระดานซื้อขายจาก mai ไปยัง SET ได้แล้วในปีนี้

นายพสุ กล่าวว่า พร้อมเดินหน้าตามแผนงานหลังย้ายหลักทรัพย์เข้าซื้อขายใน SET โดยเตรียมปรับกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับกับสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบัน เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าตลาดไฮเอนด์ทั้งชาวไทย-ต่างชาติเพิ่มขึ้น ควบคู่การพัฒนาองค์กรตามแนวทาง ESG มุ่งสู่การสร้างความยั่งยืน เป้าหมายลดคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ปัจจุบันมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) อยู่ที่ 10,663 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้จนถึงปี 69

3.บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ S ของกลุ่ม “ภิรมย์ภักดี” เข้าตลาดหุ้นไทยผ่านการแบ็คดอร์ บริษัท รสา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) (RASA) เมื่อปลายปี 57 จากนั้นก็พัฒนาธุรกิจปรับเปลี่ยนโครงสร้างต่างๆ จนกลายเป็นธุรกิจที่มีกำไรดีต่อเนื่อง แม้จะสะดุดไปในช่วงโควิด-19 แต่ก็สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จากปี 64 ที่ขาดทุน 137 ล้านบาท พลิกมีกำไรปี 65 ที่ 490 ล้านบาท ส่วนปี 66 มีกำไร 211 ล้านบาท ขณะที่งวด 6 เดือนปี 67 พลิกมีกำไร 10 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุน 77 ล้านบาท

สำหรับเป้าหมายปี 67 นางฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคยเปิดเผยว่า จะผลักดันรายได้ทำสถิติสูงสุดใหม่แตะ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยช่วงท้ายของปีจะเปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการ มูลค่ารวม 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้สิ้นปี 67 นี้ จะมีโครงการที่พัฒนาและรอการขายรวมทั้งหมด 14 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท

บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการเติบโตของรายได้ธุรกิจที่พักอาศัยในปีนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 50% จากปีก่อนส่วนหนึ่งมาจากยอดขายที่รอการทยอยโอนกรรมสิทธิ์ (Backlog) กว่าราว 3,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะทยอยส่งมอบและรับรู้เป็นรายได้เข้ามาภายในปีนี้

Back to top button