AOT ดีเดย์ 1 พ.ย.นี้ใช้ระบบ “Biometric” รองรับผู้โดยสารช่วงไฮซีซั่น
AOT เผยช่วง ต.ค. 67- มี.ค.68 มีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 22.1% และมีแนวโน้มผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น เตรียมเปิดใช้ระบบ Biometric วันที่ 1 พ.ย.นี้ ลดแถวคอยผู้โดยสารของผู้โดยสารต่างชาติ
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า จากข้อมูลการจัดสรรตารางบินฤดูหนาว 2567/2568 (ต.ค. 67- มี.ค.68) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT มีเที่ยวบินได้รับการจัดสรรเวลารวม 370,239 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นจากฤดูหนาวในปีที่ผ่านมา (ต.ค.66-มี.ค.67) 22.1% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 222,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 33.1% เที่ยวบินภายในประเทศ 147,459 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.5%
ทั้งนี้ มีแนวโน้มจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งระหว่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้น 23% และเส้นทางระหว่างประเทศที่มีผู้โดยสารเดินทางเข้าประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และ ฮ่องกง
นายกีรติ กล่าวว่า ในช่วงไฮซีซั่นที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารและเที่ยวบินเพิ่มขึ้นนั้น เมื่อมีการใช้ระบบ Biometric และตรวจคนเข้าเมืองอัตโนมัติ หรือ Auto Gate ทำให้ลดแถวคอยผู้โดยสารของผู้โดยสารต่างชาติจากเดิม 30 นาที ลดเหลือไม่เกิน 3 นาที และทำให้กระบวนการตั้งแต่ลงเครื่องบินจนถึงรับกระเป๋า จากเดิมนานสุด 50 นาทีเหลือนานสุดไม่เกิน 30 นาที เพราะเมื่อลดแถวคอยที่ ตม. ก็จะทำให้กระบวนการเร็วขึ้น จะเหลือเพียงคอขวดตรงจุดรับกระเป๋าเท่านั้น ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหาผู้ให้บริการรายที่3
ทั้งนี้ ปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2568 (ตุลาคม 2567 – กันยายน 2568) AOT คาดว่าจะผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 129.97 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศประมาณ 78.61 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.17% และผู้โดยสารภายในประเทศประมาณ 51.36 คน เพิ่มขึ้น 10.18% ขณะที่คาดว่าจะมีเที่ยวบินรวมประมาณ 808,280 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 10.32% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศประมาณ 453,750 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.02% และเที่ยวบินภายในประเทศประมาณ 354,530 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12.02%
โดยเฉพาะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) คาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 64.44 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.40% และมีเที่ยวบินประมาณ 376,820 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8.69% ส่วน ทดม.มีผู้โดยสารประมาณ 33.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.91% และมีเที่ยวบินประมาณ 223,200 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 13.00%
ส่วนของปริมาณการจราจรทางอากาศ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ในปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566 – กันยายน 2567) มีผู้โดยสารมาใช้บริการรวมกว่า 119.29 ล้านคน เพิ่มขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 72.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.82% โดยเป็นผู้โดยสารต่างชาติถึง 40 ล้านคน สะท้อนว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางได้ตามเป้าหมาย และผู้โดยสารภายในประเทศ 46.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 1.01% ขณะที่มีเที่ยวบินรวม 732,690 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 14.5% แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 416,190 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 29.63% และเที่ยวบินภายในประเทศ 316,500 เที่ยวบิน ลดลง 0.73%
โดยเฉพาะที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสาร 60 ล้านคน เพิ่มขึ้น 24.04% และมีเที่ยวบิน 346,680 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 17.88% ส่วน สนามบินดอนเมืองมีผู้โดยสาร 29.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.25% และมีเที่ยวบิน 197,250 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 11.47%
ด้านท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีผู้โดยสาร 8.82 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13.14% และมีเที่ยวบิน 57,780 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 9.68% สำหรับ ท่าอากาศยานเชียงรายมีผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน ลดลง 1.96% และมีเที่ยวบิน 12,260 เที่ยวบิน ลดลง 3.37% ขณะที่ท่าอาศยานภูเก็ตมีผู้โดยสาร 16.40 ล้านคน เพิ่มขึ้น 25.94% และมีเที่ยวบิน 98,710 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 19.97% และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ มีผู้โดยสาร 3.03 ล้านคน ลดลง 5.14% และมีเที่ยวบิน 19,730 เที่ยวบิน ลดลง 5.84% ทั้งนี้ มีผู้โดยสารแยกตามสัญชาติ 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รัสเซีย และญี่ปุ่น
นายกีรติ กล่าวว่า AOT ได้นำระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (Automated BiometricIdentification System: Biometric) ด้วยเทคโนโลยี Facial Recognition มาใช้ในการระบุตัวตนของผู้โดยสาร โดยได้พัฒนาและทดสอบระบบฯ ให้มีความพร้อมใช้งาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว รวมทั้งจะช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวของแต่ละจุดบริการภายในท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.)
โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ผู้โดยสารภายในประเทศสามารถใช้งานได้ก่อน และในวันที่ 1 ธันวาคม 2567 พร้อมใช้งานสำหรับผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้โดยสารจำเป็นต้องยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล โดยในช่วงแรก จะเก็บข้อมูลผู้โดยสารที่ลงทะเบียนไว้ 24 ชั่วโมง จากนั้นจะทำลายข้อมูล ส่วนระยะยาวจะพัฒนาระบบเพื่อจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลไว้นานๆ มีความปลอดภัยและผ่านขั้นตอน PDPA ตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ก่อน คาดว่าจะใช้ได้ใน2 ปี
โดยมีการติดตั้งเครื่องตรวจเพื่อรองรับการใช้งานระบบ Biometric 3 จุด คือ 1.จุดเช็กอิน Kiosk (ตู้คีออส)ที่สนามบินสุวรรณภูมิ 200 เครื่อง ที่สนามบินดอนเมือง จำนวน 50 เครื่อง 2.จุดเช็คบัตรโดยสาร ระบบ Biometric จำนวน 10 เครื่อง และยังมีระบบ Manual 5 ช่องและ 3. จุดตรวจบัตรโดยสารก่อนขึ้นเครื่อง มี 2 ช่อง และ Manual 1 ช่อง โดยจะคงรูปแบบ การให้บริการแบบ Manual ควบคู่ไปด้วยในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 6 เดือน
สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการใช้งานระบบ Biometric สามารถลงทะเบียนใช้งานเมื่อมาเช็กอินที่สนามบินโดยมี 2 วิธี ได้แก่ (1)เช็กอินที่เคาน์เตอร์เช็กอินผู้โดยสารแจ้งเจ้าหน้าที่สายการบินให้ลงทะเบียนใบหน้าในระบบBiometric ผ่านเครื่องตรวจบัตรโดยสาร (เครื่อง CUTE) โดยระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ (2)เช็กอินที่เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ (เครื่อง CUSS)
โดยหลังจากเช็กอินเสร็จแล้ว ให้ผู้โดยสารเลือกสายการบินที่เดินทางต่อด้วยเลือก “Enrollment”จากนั้นสแกน barcode จากบัตรโดยสารขึ้นเครื่อง (Boarding Pass) เสียบหนังสือเดินทาง (Passport) หรือบัตรประชาชน และสแกนใบหน้าเป็นขั้นตอนสุดท้าย ถือเป็นการเสร็จสิ้นการลงทะเบียน ซึ่งระบบฯ จะดำเนินการจัดเก็บข้อมูลใบหน้าและข้อมูลเอกสารการเดินทางของผู้โดยสารในรูปแบบของ Token ไว้ในระบบฯ เช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการเรียบร้อยแล้วถือว่าผู้โดยสารได้ให้ความยินยอมให้ใช้ข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลแล้ว ดังนั้น เมื่อผู้โดยสารจะโหลดกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (เครื่อง CUBD) ตลอดจนผ่านจุดตรวจค้น รวมทั้งขั้นตอนขึ้นเครื่อง ไม่ต้องแสดง Passport และ Boarding Pass อีกต่อไป ทั้งนี้ เป็นการยินยอมให้ใช้ข้อมูล Biometricสำหรับการเดินทางเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
นายกีรติ กล่าวว่า AOT มั่นใจว่าระบบ Biometric มีความพร้อมอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารทั้งผู้โดยสารภายในประเทศและระหว่างประเทศจะได้รับความสะดวกสบาย รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยในแต่ละจุดบริการ ทำให้ผู้โดยสารมีเวลาเพียงพอที่จะเดินเล่น เลือกซื้อสินค้าปลอดอากรและของฝาก รับประทานอาหาร หรือพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากที่ผ่านมา AOT ได้มีการติดตั้งระบบบริการผู้โดยสารขึ้นเครื่อง หรือ CUPPS (Common UsePassenger Processing System) ที่สนับสนุนการให้บริการทั้งหมด 5 ระบบ ได้แก่
(1) เครื่อง CUTE (เครื่องตรวจบัตรโดยสาร ซึ่งใช้งานโดยเจ้าหน้าที่สายการบิน) (2) เครื่อง CUSS (เครื่องเช็กอินด้วยตนเองอัตโนมัติ) (3) เครื่อง CUBDเครื่องรับกระเป๋าสัมภาระอัตโนมัติ (4) ระบบ PVS (Passenger Validation System) สำหรับตรวจสอบยืนยันตัวตนผู้โดยสาร (5) ระบบ SBG (Self-Boarding Gate) หรือระบบประตูทางออกขึ้นเครื่อง
โดยทั้ง 5 ระบบดังกล่าวได้ติดตั้งเพื่อรองรับระบบ Biometric ไว้เรียบร้อยแล้วและเมื่อระบบทั้งหมด 6 ระบบได้มีการใช้งานและเชื่อมต่อกันอย่างครอบคลุม จะทำให้ข้อมูลต่างๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายอย่างสมบูรณ์
“การลงทุนระบบ Biometric AOT ใช้รายได้จากค่าบริการผู้โดยสารขาออก (Passenger Service Charges: PSC) หรือค่าธรรมเนียมสนามบิน ทั้ง 6 แห่ง ผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ 730 บาทต่อคนและภายในประเทศ 130 บาทต่อคน มาดำเนินการ ซึ่งมีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี” นายกีรติ กล่าว