“ดีอี” ผนึก ETDA วางแนวทางใช้ AI เสริมศักยภาพองค์กร-ขับเคลื่อนไทยสู่ยุด “ดิจิทัล”
กระทรวงดีอี” จับมือ ETDA วางแนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI ช่วยองค์กรเพิ่มศักยภาพองค์กร เตรียมพร้อมไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัลระดับสากล
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (30 ต.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอีกับ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) โดย ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ AI Governance Center หรือ AIGC ในการเดินหน้าพัฒนากรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นการต่อ ยอด AI Governance Guideline ของไทยสู่การออกประกาศ Guideline ใหม่ แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร (Generative AI Governance Guideline for Organizations)
รวมถึง สำหรับผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการวางกรอบการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ Generative AI ระดับองค์กรให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับเป้าหมายว่า Generative AI กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ สำหรับองค์กรในยุคดิจิทัล ที่หลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆ
อนึ่งเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้การใช้งาน Generative AI จะเติบโตอย่าง รวดเร็วในหลายอุตสาหกรรม แต่ประเด็นเรื่องความเสี่ยงก็ยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงานและ สังคมในภาพรวม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีการวางแผนตลอดจนแนวทางการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้งาน Generative AI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ โดยที่องค์กรมีแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจนและสามารถพิจารณานำเทคโนโลยีนี้ ไปใช้ได้อย่างมีธรรมาภิบาล เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากที่สุด ทางกระทรวงดีอี ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศ ได้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบาย AI Governance เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่ได้มีการกำหนดในมิติของการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์
ขณะที่ ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AIGC (AI Governance Center) ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ AI อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ภายใต้กรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ จึงได้ออก แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร (Generative AI Governance Guideline for Organizations) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI ในทุกมิติที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรที่สนใจ สามารถนำไปช่วยกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้ งาน Generative AI ภายในองค์กรได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล
“แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ของการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประยุกต์ใช้ Generative AI ที่มีความสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำพาองค์กรในประเทศไปสู่การใช้ เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยยกระดับความพร้อมในทุกภาคส่วนจาก การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงถึงความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลที่มีนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องดังกล่าว ที่จะช่วยยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับสากลต่อไป” นายประเสริฐ กล่าว
ด้าน นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า สำหรับแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร นับเป็นหนึ่งในภารกิจที่ ETDA โดยศูนย์ AIGC ได้เร่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งส่งเสริม สนับสนุน ให้เกิดพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ได้อย่างเหมาะสม
อีกทั้งเพื่อสู่การเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศเพื่อสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคู่มือฉบับนี้ถูกต่อยอดขยายผลมาจากเล่มแรก อย่าง แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กร (AI Governance Guideline for Executives) ที่พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ AIGC โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาและตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานสากล ที่จะเป็นแนวทางให้องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม
สำหรับเนื้อหาคู่มือจะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1) การทำความเข้าใจ Generative AI ที่จะช่วยปูความเข้าใจพื้นฐานให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในองค์กรได้เข้าใจ หลักการที่สอดคล้องกัน ทั้งในมุมของคำนิยาม ความหมายและคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง , 2.) ประโยชน์และ ข้อจำกัด Generative AI ที่จะฉายภาพให้เห็นในมุมของการนำไปใช้งานได้จริง พร้อมด้วย Use case ที่น่าสนใจ
3.) ความเสี่ยงของ Generative AI เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงของ Generative AI พร้อมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานจริงขององค์กร , 4.) แนวทางการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง และรูปแบบของการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร และส่วนสุดท้ายคือ , 5.) ข้อพิจารณาสำหรับการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลที่มุ่งเน้นให้องค์กรสามารถ สร้างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจาก Generative AI ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
สำหรับองค์กรหรือผู้สนใจ คู่มือ ‘แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร’ สามารถดาวน์โหลดคู่มือนี้ได้ฟรีที่เว็บไซต์ https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/GovernanceGuideline_v1.aspx และสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้า เกี่ยวกับประเด็นด้านดิจิทัล ที่จะช่วยให้คนไทย #ชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ได้ที่เพจ ETDA Thailand