BOI จ่อปรับเงื่อนไข Local Content เพิ่มอีก 50% หนุนอุตสาหกรรม EV ไทย
จับตาพรุ่งนี้ BOI เตรียมประชุมบอร์ด ปรับเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศ Local Content ไม่ต่ำกว่า 50% หนุนผู้ประกอบการซัพพลายเชนชิ้นส่วนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (31 ต.ค.67) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งจะมีวาระพิจารณาออกมาตรการทั้งในส่วนของการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ เช่น มาตรการที่จะปรับเงื่อนไขการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) สำหรับ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
โดยปัจจุบันการใช้ Local Content ตามเงื่อนไขของ BOI ได้กำหนดไว้ที่ 40% ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ใช้ Local Content อยู่ที่ 45-55% เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนในประเทศ จำเป็นที่ต้องเพิ่มสัดส่วน Local Content ให้มากขึ้นหรือไม่ให้ต่ำกว่า 50% และอาจต้องสูงถึง 80%
นอกจากนี้ จะหารือถึงมาตรการสนับสนุนการลงทุนของแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับรถ EV เพิ่มเติม รวมถึงมาตรการช่วยผู้ประกอบการชิ้นส่วนภายในประเทศในส่วนของรถยนต์สันดาป (ICE) และการพิจารณาเพื่อขยายระยะเวลาการผลิตรถ EV เพื่อชดเชยการนำเข้าแบบสำเร็จรูป ตามมาตรการ EV 3.0 ซึ่งอยู่ที่ 1 : 1 คัน
เนื่องจากตามเงื่อนไขของการลงทุนเพื่อตั้งฐานการผลิตรถ EV ในประเทศได้กำหนดให้ช่วงแรกสามารถนำเข้ารถ EV สำเร็จรูปได้ แต่จะต้องผลิตชดเชยในปี 2567 ซึ่งตลาดรถยนต์กลับพบว่าติดลบต่อเนื่องและยังคงมีแนวโน้มติดลบไปจนถึงสิ้นปี 2567
นายนฤตม์ กล่าวต่อว่า คาดการณ์ว่าภายในเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ครั้งแรก หลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (บอร์ด EV) ไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567
โดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธานบอร์ด อีกทั้งจะมีกรมสรรพสามิตเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อร่วมกันพิจารณาและดำเนินตามนโยบาย 30@30 นอกจากนี้ จะมีการพิจารณามาตรการลดผลกระทบจากการเข้าร่วมองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่จะมีการเก็บภาษี 15% จากบริษัทข้ามชาติ โดยคาดว่าจะเริ่มใช้ต้นปี 2568
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณา พ.ร.บ.ภาษีส่วนเพิ่ม นำเสนอ ครม. เพื่อจะจัดเก็บภาษี 15% กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ รายได้เกิน 750 ล้านยูโรต่อปี ซึ่งจะมีบริษัทต่างชาติในไทยประมาณ 1,000 บริษัทที่เข้าข่าย และ BOI จะเป็นเครื่องมือในการออกมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านภาษีและด้านการเงิน คือ สิทธิการลดหย่อนภาษีแทนการยกเว้น แต่เป็นระยะเวลานานขึ้น เช่น บริษัทได้รับสิทธิยกเว้นภาษี 5 ปี เปลี่ยนเป็นสิทธิลดหย่อนภาษี 50% เป็นเวลา 10 ปี
รวมถึงการใช้ พ.ร.บ.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (กองทุนเพิ่มขีดความสามารถ) เพื่อเป็นเงินสนับสนุนในส่วนของการลงทุนเพื่อพัฒนา วิจัย ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีลงทุนหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ได้ของบเพิ่ม ทำให้วงเงินกองทุนเพิ่มเป็น 30,000 ล้านบาท
สำหรับยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน ปี 2567 คาดว่าอาจสูงถึง 900,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากการย้ายฐานการผลิตมาไทย การลงทุนจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร (PCB) และ Data Center ทั้งนี้เป้าหมายที่บีโอไอกำหนดไว้ 5 ปี (2566-2570) อยู่ที่ 3 ล้านล้านบาทเฉลี่ยปีละ 600,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะเป็นไปตามเป้า