“พิชัย” แนะไทยรับมือ “เทรดวอร์” ไม่ว่า “ทรัมป์-แฮร์ริส” ชนะเลือกตั้งปธน.สหรัฐ
“พิชัย” แนะไทยปรับตัวรับมือ “เทรดวอร์” ไม่ว่า "ทรัมป์-แฮร์ริส" ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เชื่อจะมีผลกระทบทั้งนั้นเพราะนโยบายของทั้งคู่จะยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตัวเองมากขึ้น
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า ไม่ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะเป็น “นายโดนัลด์ ทรัมป์” หรือ “นางคามาลา แฮร์ริส” ก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบทั้งนั้น เพราะนโยบายของทั้งคู่จะยึดหลักผลประโยชน์ของประเทศตัวเองมากขึ้น โดยที่ผ่านมาสหรัฐมีบทบาทเป็น One Man Show แต่ปัจจุบัน มีขั้วอื่น ๆ เข้ามา ดังนั้นหลังจากนี้สหรัฐ จะต้องปรับแนวนโยบายในการบริหารประเทศ
“มองว่าไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ก็ล้วนแต่มีปัญหาทั้งหมด แต่ความหนัก และความแรง อาจจะไม่เท่ากัน” นายพิชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า ท่ามกลางความรุนแรงของปัญหาสงครามการค้า (Trade War) ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ภายหลังผลการเลือกตั้งนั้น ประเทศไทยจะต้องพิจารณาภาพรวมและปรับตัวให้ดี ซึ่งหากปรับตัวได้ดี ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์ ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าไทยทำได้ค่อนข้างดี สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ ประเทศไทยจะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องสำคัญ คือ 1. ต้องพัฒนาและสนับสนุนให้เป็นการผลิตภายในประเทศ (Local Content) และ 2. โครงสร้างความเป็นเจ้าของการผลิตจะต้องเป็นของคนไทยด้วย ไม่ใช่แค่การนำเข้ามาประกอบในประเทศไทยเท่านั้น
ส่วนที่มีการประเมินว่า สงครามการค้าอาจส่งผลให้ค่าเงินมีความผันผวนมากขึ้นนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ปัจจุบันรูปแบบของการส่งออกมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกรณีของอัตราแลกเปลี่ยนจึงเริ่มทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีผลต่อราคาสินค้า และความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก แต่ทั้งนี้ ไทยเองก็จำเป็นต้องปรับตัวเช่นเดียวกับประเทศคู่แข่ง ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่เข้าไปแทรกแซงค่าเงินจนเกิดความผิดปกติ
“ไม่อยากให้มองเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนแค่ระยะสั้น ๆ แค่ 3-6 เดือน หรือ 1 ปี แต่อยากให้มองย้อนหลัง แล้วก็มองไปข้างหน้า ว่าเราจะไม่เสียเปรียบใช่หรือไม่ ถ้ามองสั้น ๆ บางช่วงเราอาจจะแข็งค่ากว่าคู่แข่ง และบางช่วงก็อาจจะอ่อนค่ากว่า การสู้แบบนี้ไม่ได้ อยากให้มองยาวขึ้น เพราะจริง ๆ เรื่องเงินบาทจะแข็งหรืออ่อนค่า มี 2 ประเด็นสำคัญ คือ ถ้าอ่อนค่าก็ต้องไม่น้อยกว่าคู่แข่ง เพราะเป็นประเทศส่งออกเหมือนกัน และ 2. ไม่ใช่แค่ค่าเงินบาทที่มีผลต่อดอลลาร์ แต่เป็นเหมือนกันทุกประเทศ ดังนั้นเวลาค่าเงินต่างกัน ก็มีโอกาสที่จะเห็นเงินลงุทนไหลกลับประเทศเขา หรืออาจจะมาที่ประเทศเรา แต่วันนี้ไทยมีทั้งสภาพคล่อง มีทุนสำรองเพียงพอที่จะดูแลเรื่องเหล่านี้ได้ ดังนั้นคิดว่าปัญหาพวกนี้คงไม่เยอะ แต่ส่วนที่อยากเห็น คือ ความสามารถในการส่งออกมากกว่า” นายพิชัย ระบุ