“สบน.” ออกบอนด์ รุ่น SLB406A อายุ 15 ปี วงเงิน 3 หมื่นล้าน ขาย 25 พ.ย.นี้

“สบน.” เตรียมออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนรุ่น SLB406A อายุ 15 ปี วงเงิน 20,000 - 30,000 ล้านบาท เสนอขาย 25 พ.ย.67 ผ่าน 4 แบงก์ใหญ่ BBL-KTB-BAY และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)


นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) เปิดเผยว่า สบน.มีแผนที่จะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ครั้งแรกของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นเครื่องมือระดมทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับพันธกิจของ สบน. ที่มุ่งเน้นการระดมทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สอดคล้องกับพันธสัญญาในความตกลงปารีส (Paris Agreement) และการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ทั้ง 17 ด้านขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN)

ทั้งนี้เพื่อให้คุณสมบัติของพันธบัตรดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานสากล สบน. ได้จัดทำกรอบการระดมทุนส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond Financing Framework) ที่สอดคล้องตามมาตรฐานที่กำหนดโดย International Capital Market Association (ICMA) และ ASEAN Capital Market Forum (ACMF) โดยได้รับการตรวจสอบและรับรองจาก DNV ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้ความเห็นอิสระระดับสากล (Second Party Opinion) ซึ่งจะเป็นการยืนยันถึงความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของกรอบการดำเนินงานของ สบน.

โดยกรอบการระดมทุนครอบคลุมถึงการกำหนดตัวชี้วัด (Key Performance Indicators: KPIs) และเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainable Performance Targets: SPTs) เงื่อนไขและรายละเอียดของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน แนวทางและหลักเกณฑ์ในการวัดผลและรายงานผลการดำเนินงานตามเป้าหมายความยั่งยืนของพันธบัตรดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ในการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายการดำเนินงานด้านความยั่งยืน สบน. ได้กำหนด KPIs หลัก และ SPTs ที่สำคัญ 2 ด้าน ดังนี้

1.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ไม่รวมการใช้ประโยชน์จากที่ดิน และป่าไม้) ต้องมีเป้าหมายไม่เกิน 388,500 ktCO2e ในปี 2573 (คิดเป็นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก 30% จากค่า Business As Usual (BAU))

2.ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicles : ZEVs) ประเภทรถยนต์นั่ง และรถกระบะ (Passenger Car and Pick-Up Trucks) ซึ่งมีเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี 2573

ผู้อำนวยการ สบน. กล่าวว่า สำหรับลักษณะพิเศษเงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน จะแตกต่างจากพันธบัตรทั่วไป โดยระดับความสำเร็จของเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่กำหนด จะเป็นปัจจัยกำหนดการปรับอัตราดอกเบี้ย คือ ในกรณีที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น หรือในกรณีที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ พันธบัตรจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยลง

“โดยหาก SPT 1 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% และหาก SPT 1 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025% แต่หาก SPT 2 ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.025% หาก SPT 2 สามารถบรรลุเป้าหมาย จะปรับอัตราดอกเบี้ยลง 0.025%” นายพชร ระบุ

สำหรับการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนครั้งนี้ สบน. จะดำเนินการออกพันธบัตรรุ่น SLB406A อายุ 15 ปี ในวงเงิน 20,000 – 30,000 ล้านบาท ผ่านผู้จัดจําหน่าย 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จํากัด (มหาชน) ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ประกอบด้วย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และกรมการขนส่งทางบก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) Global Green Growth Institute (GGGI) และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ที่ร่วมกันออกแบบและพัฒนารูปแบบและเงื่อนไขของพันธบัตรให้สอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการบรรลุเป้าหมายของ UNSDGs ได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้การออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทย โดย สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร SLB406A เป็น Benchmark Bond รุ่นอายุ 15 ปี ด้วย ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้ (Book Building) ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 และเสนอขาย (Issue Date) ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567

Back to top button