นักเศรษฐศาสตร์ มองตลาดฯ ตั้งรับ “ทรัมป์ 2” แล้ว เชื่อไม่ผันผวนแรง

“สงวน จุงสกุล” ธนาคารกรุงไทย มองหาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง ส่งผลค่าเงิน แต่จะไม่ผันผวนแรงเท่า “สมัยทรัมป์ 1” พร้อมแนะไทยขยายตัวให้ทันรับ “เทรดวอร์”


นับถอยหลัง ศึกเลือกตั้ง “ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47” ระหว่าง “กมลา แฮร์ริส” พรรคเดโมแครต กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” พรรครีพับลิกัน ในวันที่ 5 พ.ย.นี้ ในแง่ของอนาคตตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงโอกาสการลงทุนในอนาคต เทียบกันแล้ว “แฮร์ริส” กับ “ทรัมป์” ใครกันที่จะส่งผลดีมากกว่ากัน

นายสงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีม Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 1 เดือนเต็ม ตลาดได้ Price In หรือการรับรู้ว่า “ทรัมป์ชนะ” ไปแล้วระดับหนึ่ง โดยค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าไปแล้ว 2-3% ส่วนค่าเงินบาทก็อ่อนค่าไปแล้วประมาณ 2-3% เช่นกัน

หาก “ทรัมป์” ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 จะเหมือนหรือแตกต่างจาก “สมัย ทรัมป์ 1” นายสงวน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2559 (ค.ศ. 2016) ที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งครั้งแรก ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ทรัมป์ เทรด” (Trump Trade) ออกฤทธิ์ออกเดชอยู่ประมาณ 2 เดือน คือ ช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากช่วงต้นปีนั้น 6% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 2% ขณะที่ Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้น 80 basis point แต่พอผ่าน 2 เดือนดังกล่าว ทุกอย่างก็ค่อย ๆ กลับเข้าสู่เสถียรภาพ

แต่การเลือกตั้งสหรัฐฯ ครั้งนี้หากทรัมป์ชนะ ตนมองว่ามันไม่ควรเคลื่อนไหวรุนแรงและผันผวนเท่าครั้งนั้น ด้วย 2 เหตุผล คือ 1. เมื่อปี 2559 ทรัมป์ชนะแบบพลิกล็อก ตลาดค่อนข้างตกใจ เพราะทุกโพลชี้ไปที่ “ฮิลลารี คลินตัน” แต่ครั้งนี้ตลาดค่อนข้างที่จะเตรียมรับกับชัยชนะของทรัมป์ไปแล้วประมาณหนึ่งเดือนล่วงหน้า

  1. ในปี 2559 อยู่ในช่วงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นดอกเบี้ย ดังนั้นทรัมป์ เทรด ที่เกิดขึ้นช่วงนั้นส่งแรงไปทางเดียวกับการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed คือ ยิ่งทำให้ผันผวน ค่าเงินดอลลาร์ยิ่งแข็ง Yield สหรัฐฯ ยิ่งปรับเพิ่มขึ้น แต่ครั้งนี้แตกต่างเพราะตอนนี้อยู่ในวงจรขาลง เป็นช่วงที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้นผลของทรัมป์ เทรด กับผลของการลดดอกเบี้ยของ Fed จะให้ผลต่อตลาดการเงินในทิศทางที่ตรงข้ามกัน ตนเชื่อว่าปีนี้ความผันผวนที่เกิดขึ้น ในทางจิตวิทยาของตลาดนั้นต้องผันผวนแน่ แต่ระยะสั้นเชื่อว่าจะไม่ซ้ำรอยในสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559

แต่ถ้า “แฮร์ริส” ชนะ ตลาดจะผันผวนแต่น้อยกว่า “ทรัมป์”

นายสงวน กล่าวอีกว่า แต่ถ้าเป็นชัยชนะของ “แฮร์ริส” ทุกอย่างจะกลับข้าง สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาจะผันผวนอีกด้าน นั่นคือค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่า และค่าเงินบาทจะแข็งขึ้น ส่วน Yield สหรัฐฯ ก็จะปรับตัวลดลง ตลาดจะผันผวนแต่น้อยกว่า โดยจะกลับไปเป็นเหมือนช่วงรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน

“นโยบายของทรัมป์ครั้งนี้ดูทำให้มีความเปลี่ยนแปลงและผันผวนได้มากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา” ผอ.ฝ่ายอาวุโส ทีม Investment and Market Research สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าว

วิเคราะห์โอกาสการลงทุน

นายสงวน กล่าวว่า หลังทรัมป์ชนะเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2559 หุ้นดาวโจนส์ ปรับขึ้นไป 4% หุ้นไทยขึ้น 2% แต่มาวันนี้ ปี 2567 ตนคิดว่าตลาดอาจจะไม่สะท้อนแบบอดีต ตอนนั้นหุ้นขึ้นทั้งโลก ตามแรงขับพลังของดาวโจนส์ แต่หลัง ๆ เป็นที่ชัดเจนว่า หุ้นไทยกับหุ้นดาวโจนส์ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเหมือนสมัยก่อน ตลาดก็อาจไปโฟกัสเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เพราะสิ่งที่มีความแตกต่างกันมากและแหลมคมที่สุด ระหว่าง “แฮร์ริส” กับ “ทรัมป์” ในรอบนี้ คือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์มากกว่า เรื่องตลาดการเงินเป็นรองด้วยซ้ำไป

ส่วนเรื่องของค่าเงิน ก่อนหน้านี้จะเห็นว่า ค่าเงินบาท แข็งค่าเร็วมากเมื่อ Fed ลดดอกเบี้ย แต่ปรากฎว่า หนึ่งเดือนเมื่อตลาดเตรียมรับการมาของทรัมป์ กลับกลายเป็นทำให้ค่าเงินบาทกลับสู่สมดุล แทนที่จะวิ่งลงเร็วเหมือนช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน เงินบาทสามารถกลับมาอยู่ในกรอบ 33-34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้ ต้องถือว่าเป็นบวก เพราะบ้านเราไม่อยากให้ค่าเงินแข็งมากจนเกินไป

อีกเรื่องคือเรื่องดอกเบี้ยการที่ทรัมป์ เทรด จะทำให้เงินเฟ้อไม่ลดลงอย่างที่หลายฝ่ายต้องการ เพราะว่าทรัมป์มีแนวโน้มกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินเฟ้อระยะยาวปรับสูง และทำให้ curve BU สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ซึ่งจะมีส่วนทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกหรือทั่วเอเชียลดดอกเบี้ยได้น้อยลง ซึ่งเส้นแสดงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ (Yield curve) ก็คือต้นทุนการกู้เงินของรัฐบาลทั่วโลกและของไทยด้วยเช่นกัน ถ้า Yield สหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นหรือชันขึ้น ก็มีผลทำให้ต้นทุนการกู้เงินแพงขึ้น ต้องบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่ไทยจะได้รับกระทบน้อยมาก

เพราะว่า เดือนตุลาคมทรัมป์ เทรด ที่ออกฤทธิ์ออกเดช Yield สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับขึ้น 70 basis point ภายในเดือนเดียวเร็วมาก แต่ของไทยแทบไม่ขึ้นเลย ชี้ให้เห็นว่าพลังการเชื่อมโยงของตลาดพันธบัตรบ้านเรากับสหรัฐฯ น้อยมาก สาเหตุหนึ่งเพราะว่า พันธบัตรของไทย มีนักลงทุนต่างชาติไม่ถึง 10% จะเห็นได้ว่าในเดือนตุลาคมนักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิพันธบัตรไทย แต่ Yield ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพราะนักลงทุนในประเทศพร้อมซื้อ เพราะฉะนั้นแรงกระแทกไม่ได้เข้ามามาก ไปเน้นที่ค่าเงินเป็นหลัก

นายสงวน กล่าวทิ้งท้ายว่า มองในระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การชนะของทรัมป์มันอาจจะไม่ดี เพราะทำให้มีการกีดกันทางการค้า “ไม่ใช่ข่าวดี” คงทำอะไรไม่ได้ แต่ตรงไหนที่เป็นข่าวดีบ้าง คือ 1. ค่าเงินสมดุลขึ้นตรงนี้น่าจะจริง 2. ความที่สหรัฐฯ ขัดแย้งกับจีนอย่างแหลมคม ซึ่งในช่วงปี 2561 มีคำว่า “เทรดวอร์” (Trade war) เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มันมีเม็ดเงินที่ไหลออกจากจีนไปตั้งโรงงานในประเทศเวียดนามจำนวนมาก ทำให้เวียดนามได้รับผลประโยชน์จาก Geopolitics ล้วน ๆ ขณะที่ไทยก็ได้ประโยชน์เช่นกันแต่เราได้น้อย ดังนั้น Geopolitics ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้ประโยชน์ สังเกตจาก Data center เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ดังนั้นไทยต้องขยายจุดนี้ให้ทัน

Back to top button