“แพทองธาร” โชว์วิสัยทัศน์เวที GMS เดินหน้า “พัฒนานวัตกรรมใหม่” ยกระดับเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

นายกฯ “แพทองธาร” ย้ำในเวทีชาติลุ่มน้ำโขง ไทยยึดหลัก 3Cs “สร้างความเชื่อมโยง-เสริมขีดความสามารถ-สร้างประชาคมที่ดีขึ้น” พร้อมร่วมพัฒนานวัตกรรมใหม่ ยกระดับเศรษฐกิจ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 พ.ย. 67) น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat Session) ของการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของไทย”(Innovation-driven Development) ที่ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

โดยน.ส.แพทองธาร กล่าวว่า 4 ยอดสิ่งประดิษฐ์ (Four Great Inventions) ของจีน ได้แก่ เข็มทิศ, ดินปืน, กระดาษ และการพิมพ์ เป็นนวัตกรรมในการพัฒนามนุษย์และสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติในอดีตจนมาถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่เทคโนโลยีจากโลกเสมือนจริงผสมผสานกับโลกจริง รวมถึงการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหัวข้อหลักของการประชุมที่มุ่งพัฒนาด้วยนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างประชาคมที่ดีกว่าเดิม ซึ่งเป็นหัวใจหลักของแผนงาน GMS

น.ส.แพทองธาร ได้เสนอแนวทางการพัฒนาอนุภูมิภาค ด้วยหลักการ “นวัตกรรมที่ครอบคลุมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” คือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อสร้างสังคมที่มั่นคงและเท่าเทียม และสร้างโลกที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้บูรณาการ และส่งเสริมนวัตกรรมในนโยบายและแผนพัฒนาประเทศ ทุกระดับ โดยการยกระดับการเกษตรแบบดั้งเดิม ให้เป็นเกษตรทันสมัย ผ่านแนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการทำเกษตร เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งเสริมราคาพืชผลทางการเกษตรให้มีเสถียรภาพ ยกระดับรายได้ของเกษตรกร

ขณะที่ นวัตกรรมด้านการเงินของไทย ปัจจุบันได้ประยุกต์การใช้เทคโนโลยี ยกระดับบริการทางการเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักลงทุน อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินแบบไร้รอยต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้โครงการ ASEAN Payment Connectivity สร้างระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ผ่าน QR Code เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล ลดภาระค่าธรรมเนียมและค่าบริการทางการเงินที่ไม่จำเป็น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาคม GMS

อีกทั้งไทยมุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่าเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมที่จะสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้ดีขึ้นต่อไป รัฐบาลไทยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน ผ่านมาตรการทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี พัฒนาทักษะบุคลากรให้เหมาะสมต่อการสร้างและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่ทันสมัย รวมถึงสร้างระบบนิเวศในการพัฒนาประเทศที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมบนฐานของนวัตกรรม

“เชื่อมั่นว่ายุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ที่มีเป้าหมายในปี พ.ศ. 2573 จะได้รับการรับรองในการประชุมครั้งนี้ จะทำให้กำหนดแนวทางและประเด็นสำคัญในการดำเนินการเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ตลอดจนยืนยันความมุ่งมั่นและความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือกับประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ พร้อมยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป” นายกรัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้าย

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ของการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) โดยสรุปได้กล่าวยืนยันว่า ไทยยึดหลัก 3Cs สร้างความเชื่อมโยง เสริมขีดความสามารถ สร้างประชาคมที่ดีขึ้น

1. ประเทศไทย ได้เร่งสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้เป็นรากฐานของการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ – เวียงจันทน์ สปป.ลาว, การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จ.ชลบุรี, แผนการก่อสร้างสนามบินล้านนา ที่ภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ ที่จังหวัดพังงาใกล้กับ จ.ภูเก็ต

นอกจากนี้ ยินดีที่ประเทศสมาชิกได้กลับมาดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงระยะแรก (GMS Cross-Border Transport Agreement: CBTA) หลังจากหยุดชะงักไปชั่วคราวจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งระยะต่อไปจะต้องอาศัยความพยายามร่วมกันผ่านการพัฒนากฎระเบียบและความร่วมมือต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความเชื่อมโยงบริเวณชายแดน เพื่อให้การค้าและการคมนาคมขนส่ง ข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ราบรื่นและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น

2. จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยมีการใช้เงินในระบบดิจิทัล ระบบพร้อมเพย์ สำหรับการรับและโอนเงิน และการชำระผ่าน QR Code ข้ามพรมแดนอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น

3. เสริมสร้างประชาคม (Community) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ GMS ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มประเทศ GMS สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบครอบคลุมของไทย และให้ความสำคัญต่อเยาวชนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคนี้

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยก็ไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับและพัฒนานโยบายสาธารณสุขจาก “30 บาท รักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาท รักษาทุกที่” พร้อมขยายบริการสุขภาพมาตรฐานโดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับประเทศสมาชิก GMS

น.ส.แพทองธาร กล่าวอีกว่า ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ซึ่งได้ถูกบูรณาการในแผนการพัฒนาระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่า ความเจริญรุ่งเรืองของประชาคม GMS จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่

1. ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (Joint Summit Declaration)

2.ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 แผนงาน GMS (Greater Mekong Subregion Innovation Strategy for Development 2030)

Back to top button