ตามให้ทัน เมื่อมิจ(ฉาชีพ) เปลี่ยนมุก…
จากกระแสข่าวบริษัทธุรกิจเครือข่ายรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีผู้เสียหายรวมกลุ่มร้องเรียนต่อสื่อ ด้วยสาเหตุโดนหลอกลงทุนในธุรกิจขายตรง
คอลัมน์ชวนคิด ชวนคุย กับ ก.ล.ต.
จากกระแสข่าวบริษัทธุรกิจเครือข่ายรายใหญ่แห่งหนึ่ง ที่มีผู้เสียหายรวมกลุ่มร้องเรียนต่อสื่อ ด้วยสาเหตุโดนหลอกลงทุนในธุรกิจขายตรง เมื่อลงทุนไปแล้วไม่มีของให้ขายหรือของขายไม่ได้ บางรายเกิดภาวะเครียดสุดท้ายตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ทำให้ผู้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจถึงวิธีการหลอกลวงที่อ้างรูปแบบของธุรกิจเครือข่าย หรือขายตรงมากขึ้น เมื่อดูแล้วจะพบว่ามันคือ “เหล้าใหม่ในขวดเก่า” วิธีการเดิม บริบทเดิมแค่ยุคสมัยเปลี่ยน โดยเน้นการขายคอนเซปท์ว่า ความสุขหรือความสำเร็จของผู้คนเกิดจากความร่ำรวยแบบก้าวกระโดด รวยเร็ว รวยไว รวยจริง สำหรับแวดวงการหลอกลวงลงทุนในผลิตภัณฑ์อย่างพวกหุ้น หรือกองทุนต่าง ๆ มีรูปแบบคล้ายกันตรงที่มิจฉาชีพจะโฆษณา โน้มน้าวด้วยเรื่องของการได้ผลตอบแทนที่สูง ได้ง่าย ได้ไว ได้จริง
มิจฉาชีพยุค 5.0 เริ่มปรับเปลี่ยนมุกใหม่มาเรื่อย ๆ ที่ไม่ใช่แค่การหลอกทางโทรศัพท์ด้วยเบอร์แปลก ๆ แล้วให้โอนเงิน อีกต่อไป แต่กำลังปรับตัว พุ่งเป้าไปที่ “ผู้สนใจลงทุน” และ “ผู้ลงทุนตัวจริง” ด้วยกลยุทธ์ที่ซับซ้อนและแนบเนียนขึ้น จากสถิติเผยว่ามีการสูญเงินจากการหลอกลงทุนกว่า 10,437 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี โดยหลอกลงทุนสร้างความเสียหายรุนแรงที่สุด คิดเป็น 50% ของความเสียหายจากการหลอกลวงทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา
แผนการหลอกลวงเหล่านี้เต็มไปด้วยความแยบยล มิจฉาชีพจะมาในคราบของ “ผู้เชี่ยวชาญการลงทุน” อ้างชื่อบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ชั้นนำ หรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและเชิญชวนให้ร่วมลงทุน บางครั้ง ยังส่งลิงก์ของเว็บไซต์จริงที่ถูกแอบอ้างมาให้ แต่พอถึงขั้นตอนลงทุน กลับส่งลิงก์ปลอมมาให้แทน และเงินที่เราโอนอาจไปไม่ถึงบริษัทที่เราเข้าใจว่าลงทุนด้วย แผนการหลอกลวงชวนลงทุนที่มิจฉาชีพใช้ ไม่ใช่แค่โฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก TikTok หรือ YouTube เท่านั้น ยังมีเทคนิคใหม่ ๆ ที่มาในรูปแบบของการสนทนาที่ดูเหมือนจะเป็นการแบ่งปัน “โอกาสทอง” ซื้อขายในกระดานรายใหญ่ (Big Lot) ให้เราเห็นจนเผลอรู้สึกว่า “อาจเป็นโอกาสดีจริง ๆ ก็ได้นะ หากเราไม่ลงทุนแล้วจะพลาดโอกาสนี้ไปเลย”
วันนี้ดิฉันมีจุดสังเกตหลัก ๆ 3 จุด เพื่อให้ทุกคนเกิดความเอ๊ะมากขึ้นก่อนตัดสินใจลงทุนนะคะ เอ๊ะที่ 1 อย่าเพิ่งเชื่อใครง่าย ๆ ถ้ามีคนมาชักชวนให้ลงทุนทางออนไลน์ อย่ารีบตัดสินใจ โทรไปตรวจสอบกับบริษัทโดยตรงก่อน โดยโทรไปที่เบอร์ที่เราค้นหาเองไม่ใช่เบอร์ที่คนแปลกหน้าให้มา เอ๊ะที่ 2 มิจฉาชีลงทุนพมักจะพยายามกระตุ้นและกดดันให้คุณ “รีบตัดสินใจเร็ว ๆ” เช่น บอกว่าเป็นโอกาสพิเศษที่มีระยะเวลาจำกัด หน่วยลงทุนที่ได้มาในราคาพิเศษมีจำนวนจำกัด บอกว่ามีที่นั่งแค่ไม่กี่ที่ หรือบอกว่าถ้าไม่เพิ่มทุนต้องเสียมูลค่าในพอร์ตทั้งหมด มิจฉาชีพบางรายอาจนำเสนอแผนการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงหรือเร็วเกินควร โดยไม่มีความเสี่ยง เราจึงต้องเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่เป็นไปได้จริงในสภาวะการณ์ปัจจุบันของตลาดก่อน และเอ๊ะที่ 3 ที่ควรตั้งสติ เช็กชื่อบัญชีให้ชัวร์ก่อนโอนเงินลงทุน ตรวจสอบชื่อบัญชีธนาคารทุกครั้ง อย่าย่ามใจว่าเป็นชื่อบัญชีนิติบุคคลน่าจะปลอดภัย และต้องระวังเป็นพิเศษถ้าให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว
ก่อนจะตัดสินใจเชื่อ ต้องเช็กข้อมูลของผู้ที่มาชวนลงทุนอย่างละเอียด หากผู้ชักชวนอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการลงทุน ลองค้นหาข้อมูลในแหล่งที่เชื่อถือได้ สามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th/seccheckfirst หรือแอป “SEC Check First” และติดต่อต้นสังกัดเพื่อยืนยันตัวตน เพราะมิจฉาชีพบางคนอาจแอบอ้างประวัติต่าง ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ กรณีที่มีการส่งลิงก์เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันมาให้ดาวน์โหลดเพื่อลงทุนด้วย ขอให้ตรวจสอบ URL และรายละเอียดให้ดี ลองสังเกตความผิดปกติใน URL เช่น การใช้ชื่อที่คล้ายคลึงกับบริษัทที่น่าเชื่อถือแต่สะกดต่างออกไปเล็กน้อย หรือให้สังเกตว่าเว็บไซต์นั้นใช้การเข้ารหัส HTTPS (ขึ้นต้นด้วย https://) เพื่อความปลอดภัย
การลงทุนที่ปลอดภัย เริ่มต้นจากข้อมูลที่ถูกต้องและการตัดสินใจที่รอบคอบ หากสงสัยว่าอาจโดนหลอก อย่ารอช้า ติดต่อขอคำปรึกษาหรือแจ้งเบาะแสได้ที่ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” โทร. 1207 กด 22 หรือเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือเว็บไซต์ ก.ล.ต. ได้ทันที
เพราะฉะนั้นอย่าลืม… “เช็กให้ชัวร์ ก่อนลงทุน” ป้องกันตัวเองจากมิจฉาชีพที่แอบแฝงมาในคราบโอกาสเสมอค่ะ!