กลุ่มรับเหมาช่วง TOP บุกทำเนียบ! ร้องนายกแก้ปม UJV เบี้ยวค่าจ้าง
กลุ่มผู้รับเหมาช่วง “ไทยออยล์” ระดมแรงงาน 1,000 ชีวิต เข้าพบนายกฯ พรุ่งนี้ วอนช่วยเคลียร์ปัญหาหลังถูกกลุ่มรับเหมาต่างชาติ UJV เบี้ยวค่าจ้างหลายพันล้านบาท นาน 7-8 เดือนแล้ว เดือด! แจ้งความดำเนินคดีผู้รับเหมาหลัก ฐานหลอกลวงเข้าข่ายความผิดทางอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (12 พ.ย. 2567) เวลาประมาณ 09:00 น. กลุ่มผู้รับเหมาช่วง (SUBCONTRACTOR) ที่ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มบริษัท UJV ที่ประกอบด้วย บริษัท Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte. Ltd. ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลัก โครงการพลังงานสะอาด CFP ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ค้างจ่ายค่างวดงานรวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยจะนำแรงงานกว่า 1,000 คน เข้ายื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
ส่วนช่วงบ่ายในวันเดียวกันนั้น ผู้บริหารกลุ่มผู้รับเหมาช่วงจะเดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อขอความเป็นธรรมอีกด้วย
นายยุทธนา กาญจนารมย์ ฝ่ายประสานงานของ บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมานานหลายเดือนแล้ว และท้ายที่สุดบริษัทที่สายป่านเล็กอาจไปต่อไม่ไหว และแม้บริษัทที่มีสายป่านยาวจะยังดำเนินการอยู่ได้ แต่ในระยะยาวกว่าจะกลับมาเป็นเหมือนเดิมคงยาก เนื่องจากขณะนี้แรงงานที่มีทักษะฝีมือเริ่มแยกย้ายกันกลับบ้าน และกว่าจะผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือในโรงกลั่น หรือโรงปิโตรเคมีได้ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงอยากฝากให้รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกระทรวงพลังงาน ช่วยลงมาเร่งรัดปัญหาให้จบโดยเร็วที่สุด
ขณะที่เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ตัวแทนจากบริษัทผู้รับเหมาช่วงกว่า 20 บริษัท ได้นำหนังสือมอบอำนาจเข้ายื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง จ.ชลบุรี กรณีถูกกลุ่มบริษัท UJV ผู้รับเหมา ฐานหลอกลวง ไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้าง หรือจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกันตามสัญญา
ทั้งที่รายละเอียดสัญญาระบุว่า บริษัทผู้รับเหมาช่วงจะได้รับการจ่ายค่างานเป็นงวด ๆ ตามความคืบหน้าของผลงานและสัญญาว่าจะจ่ายค่างวดงานนั้น ๆ ภายใน 45 วัน หลังจากที่ผู้รับเหมาหลักได้รับมอบงาน และรับการวางบิลค่างวดงานแต่ละงวดนั้น ๆ ดังปรากฏในสัญญา แต่เมื่อบริษัทได้ดำเนินการตามข้อตกลงในสัญญาและส่งมอบงานตามกำหนดครบถ้วน พร้อมตัวแทนผู้รับเหมาหลักได้ลงลายมือรับรองผลงานที่แล้วเสร็จในแต่ละงวดงานอย่างครบถ้วนตามสัญญาแล้ว แต่ผู้รับเหมาหลัก กลับยังไม่ยอมชำระจ่ายเงินตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งล่วงเลยกำหนดจ่ายมาเป็นเวลานานเกินกว่า 45 วันแล้ว
โดยที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วง ได้ส่งจดหมายทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษร และยังติดต่อไปพบผู้รับเหมาหลักหลายครั้ง แต่ผู้รับเหมาหลัก กลับไม่จ่ายเงินค่าจ้างงานตามสัญญา และให้เหตุผลต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม เพื่อยื้อเวลาในการจ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญา โดยอ้างเหตุว่าขาดสภาพคล่องในการดำเนินงาน
ขณะที่ไทยออยล์ มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte. Ltd. อย่างครบถ้วนมาตลอด และยังมีบริษัทแม่ที่สามารถให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte. Ltd. ได้ โดยห้ามบริษัทหยุดทำงาน เพราะจะเป็นการผิดสัญญา และต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับเหมาหลักตามสัญญา และแม้ที่ผ่านมาบริษัทผู้รับเหมาช่วงได้นัดหมายเจรจา และมีตัวกลางไกล่เกลี่ยกับผู้รับเหมาหลักมาโดยตลอด แต่ผู้รับเหมาหลักยังคงยื้อเวลาและไม่ยอมชำระค่างวดงาน
โดยตัวแทนจาก 20 บริษัทผู้รับเหมาช่วง ได้นำเอกสารงวดงานที่ผู้รับเหมาหลักผิดนัดชำระเงินตามสัญญาฯ แนบสำเนาไว้เป็นหลักฐานให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งแต่ละบริษัทมียอดเงินค้างจ่ายมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าวทำให้กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วง เห็นว่าการกระทำของผู้รับเหมาหลัก มีพฤติการณ์โดยทุจริตหลอกลวง ไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้าง หรือโดยจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ตกลงกันตามสัญญาแก่บริษัท และผู้รับเหมารายอื่นกว่า 20 ราย
ดังนั้นจึงขอแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้สอบสวนข้อเท็จจริง และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้รับเหมาหลัก ผู้จัดการ ผู้กระทำการแทนผู้รับเหมาหลัก หรือผู้แทนของผู้รับเหมาหลัก และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการกระทำอันมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาจนถึงที่สุด
นายสุพจน์ สุรัตน์ ตำแหน่งผู้จัดการโครงการ ของบริษัท ไทยโรตารี่ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรวมตัวเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับตำรวจ สภ.แหลมฉบังครั้งนี้ ของกลุ่มผู้รับเหมาช่วงก็เพื่อเป็นการให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงความเดือดร้อนที่กลุ่มแรงงาน และผู้ประกอบการที่ได้รับมาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2567 และปัจจุบันความเดือดร้อนยาวนาน 7-8 เดือนแล้ว จึงอยากจะวิงวอนผู้มีอำนาจช่วยผลักดันให้ปัญหาได้รับการแก้ไข เพราะเป็นเรื่องปากท้องของพี่น้องแรงงานทุกคน
TOP ขาดทุน 4,200 ล้านบาท
นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 110,018 ล้านบาท ลดลง 9,638 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และลดลง 9,621 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ขณะที่ ไตรมาส 3/2567 มีผลขาดทุนสุทธิ 4,218 ล้านบาท เทียบไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิ 10,828 ล้านบาท และไตรมาส 2/2567 ที่มีกำไรสุทธิ 5,547 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนปีนี้มีกำไรสุทธิ 7,192 ล้านบาท ลดลง 9,307 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 16,499 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผลขาดทุนดังกล่าว สาเหตุจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลกับราคาน้ำมันดิบดูไบปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันช่วงฤดูกาลขับขี่ในประเทศสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมีอุปทานเพิ่มขึ้นจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ ทำให้ระดับน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเทศจีนยังคงอ่อนแอ
สำหรับภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันไตรมาส 4/2567 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว รวมถึงการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังปรับลดลงจากไตรมาสที่ 3 ส่งผลให้ส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยานกับราคาน้ำมันดิบดูไบมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น สำหรับปี 2568 ถึงแม้ว่าอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปจะเพิ่มขึ้น แต่อุปทานจากโรงกลั่นน้ำมันใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งจากในประเทศจีน และเม็กซิโก ที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้และปีหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าการกลั่นปรับเพิ่มขึ้นในระดับจำกัด
นอกจากนี้ ไทยออยล์จะติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการเร่งรัดการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด ตลอดจนแสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ Megatrends เพื่อมุ่งเติบโตเป็นองค์กร 100 ปี อย่างมั่นคง ภายใต้วิสัยทัศน์ สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ส่วนแผนการลงทุนโครงการในอนาคตตั้งแต่ปี 2567-2570 เป็นจํานวนรวมทั้งสิ้น 741 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 226 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินลงทุนในธุรกิจโอเลฟินส์ของบริษัท โดยผ่านการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk ประมาณ 270 ล้านเหรียญสหรัฐ และโครงการอื่นของบริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการอีกประมาณ 245 ล้านเหรียญสหรัฐ