“วอชด็อก-สัตวแพทยสภา” จ่อเอาผิดผู้จัดละคร “แม่หยัว” ปมวางยาสลบแมว
“วอชด็อก-สัตวแพทยสภา” เตรียมเอาผิดผู้จัดละครดัง “แม่หยัว” หลังมีฉากวางยาสลบแมวจนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในทวิตเตอร์ พร้อมแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ฉากหนึ่งในละครดัง “แม่หยัว“ ซีรียส์ดังออกอากาศทางช่องวัน 31 ว่ามีการวางยาสลบแมว จนเกิดแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ติดเทรนด์ X (ทวิตเตอร์) ขณะที่ผู้กำกับละครได้อัปคลิปอัปเดตว่าแมวยังมีสุขภาพที่ดี
ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ย.67) มูลนิธิวอชด็อก ไทยแลนด์ Watchdog Thailand Foundation-WDT ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ผิด และความผิดเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว กองถ่ายละครแม่หยัว วางยาสลบสัตว์เพื่อใช้ประโยชน์ในการแสดงเป็นทารุณกรรมสัตว์
โดย WDT รอผลการตรวจสอบจากกรมปศุสัตว์วันนี้ พร้อมขอเทปรายการการถ่ายทำละครแม่หยัว และนำแมวมาตรวจสุขภาพและอัตลักษณ์
นอกจากนี้ ยังระบุว่า ประเด็นสำคัญที่จะต้องขอให้มีการดำเนินการสอบสวน ดังนี้การวางยาสลบในสัตว์ต้องกระทำโดยสัตวแพทย์เท่านั้น ตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวแพทย์ และต้องเป็นไปเพื่อการรักษาชีวิตของสัตว์ ไม่ใช่นำสัตว์มาเสี่ยงกับอันตรายที่จะเกิดจากการวางยาสลบ
หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา มิใช่สัตวแพทย์ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละครและเจ้าของสัตว์ จะต้องมีความผิดตามกฎหมาย พรบ.วิชาชีพการสัตวแพทย์
นอกจากนี้หาก “ผู้เชี่ยวชาญ” ที่ผู้กำกับละครชี้แจงมา เป็นสัตวแพทย์ ต้องมาดูในเรื่องจรรยาบรรณ และพ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรม เพราะการวางยาสลบในสัตว์ โดยเจตนาให้สัตว์ได้รับอาหาร จนแสดงอาการขย้อน และกระตุกจนสลบแน่นิ่ง เป็นเจตนาทำให้สัตว์อยู่ในความเสี่ยงและเป็นอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ
ทั้งนี้เนื่องจากหลักการทางวิชาการ ในการทำให้สัตว์สลบ จะต้องมีการงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนการใช้ยา เพื่อป้องกันมิให้สัตว์ขย้อนจนสำลักอาหารเข้าสู่หลอดลมขณะอยู่ในภาวะสลบ การใช้ยาระงับประสาท ยากลุ่มนำยาสลบ หรือยาสลบ จะใช้เพื่อต้องการระงับประสาทและความเจ็บปวด เพื่อการรักษาผ่าตัดในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
หรือจะใช้ยาระงับประสาท เพื่อทำการเคลื่อนย้ายสัตว์ อันเป็นเหตุประกอบการรักษาหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์เท่านั้นไม่สามารถใช้ได้ถ้าไม่มีเหตุอันควร เพราะตัวยาที่ใช้ในการเหนี่ยวนำให้เกิดการสลบ หรือกลุ่มยาสลบมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อุณหภูมิของร่างกาย การหายใจ และระยะเวลาที่สัตว์สลบแล้วทำการ recover ตัวเองจากการฟื้นจากยาสลบนั้น สัตวแพทย์ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด
มีการเตรียมเครื่องมือกู้ชีพ มีการให้น้ำเกลือ หรือใส่ท่อช่วยหายใจ เพื่อแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันท่วงที ดังนั้น ในเมื่อมีการกระทำที่ตรงกันข้ามกับหลักการและจรรยาบรรณ เพื่อหวังประโยชน์จากการใช้งานสัตว์
ผู้รับผิดชอบกองถ่ายละคร เจ้าของสัตว์ และสัตวแพทย์ จึงมีความผิดทารุณกรรมสัตว์ ตามกฎหมายป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.57 รอดูผลการตรวจสอบกัน เพราะไม่ว่าอย่างไร จะเป็นข้อ 1 หรือ 2 ก็ผิด และความผิดเกิดขึ้นสำเร็จแล้ว
ขณะที่ทาง “สัตวแพทยสภา” โดยมีการโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สัตวแพทยสภา” ว่า ขอขอบคุณข้อมูลที่ส่งมา ทางสัตวแพทย สภาได้รับทราบในข้อกังวลที่มีภาพของแมวปรากฏในสื่อโซเชียลมีเดีย และมีการอ้างถึงว่าอาจมีการใช้ยาสลบในการถ่ายทำละคร ทางสัตวแพทยสภาจะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
จากนั้น ผศ.สัตวแพทย์หญิง ดร.สิริรัตน์ นิยม คณะผู้บริหารวิทยาลัยวิชาชีพการสัตวแพทย์ชำนาญการแห่งประเทศไทย ยังเผยแพร่อันตรายจากการวางยาสลบระบุว่า การวางยาสลบในทางสัตวแพทย์เป็นกระบวนการที่ทำให้สัตว์เกิดสภาวะหมดความรู้สึกของร่างกาย การตอบสนองต่อสิ่งเร้าลดลงหรือหมดไป เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหัตถการต่อสัตว์ในการป้องกันการวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคที่สัตวแพทย์ไม่สามารถกระทำในขณะที่สัตว์รู้สึกตัวได้ หรือนำมาใช้ในการจับบังคับสัตว์ที่ควบคุมได้ยากเพื่อการเคลื่อนย้ายสัตว์ เป็นต้น
โดยการให้ยาสลบนั้นมีสิ่งที่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลายประการ เนื่องจากฤทธิ์ของยาที่นอกเหนือไปจากการทำให้สัตว์หมดสติแล้วยังมีผลต่อระบบการทำงานของร่างกาย ทั้งระบบประสาท ระบบไหลเวียนโลหิต ระบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร และบบต่อมไร้ท่อ
การประเมินสุขภาพสัตว์อย่างละเอียดรอบคอบครบถ้วนสมบูรณ์นั้น จึงเป็นสิ่งที่สัตวแพทย์จะต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เพียงพอ ในการนำมาวางแผนเตรียมตัว ปรับสภาพร่างกายสัตว์ให้มีความพร้อมต่อการรับการวางยาสลบ และเลือกใช้ชนิดยาในการวางยาได้อย่างเหมาะสม ลดโอกาสของการเกิดผลไม่พึงประสงค์ได้
นอกจากนี้พึงตระหนักว่าภาวะแทรกช้อนในการวางยาสลบสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทุกช่วงเวลาตั้งแต่เริ่มต้นให้ยานำสลบกลุ่ม premedication ขณะเหนี่ยวนำการสลบ ขณะคงภาวะสลบ ไปจนกระทั่งระยะพักฟื้นหรือขณะสัตว์ตื่นจากการสลบ
ดังนั้น การวางยาสลบสัตสัตว์ จึงควรดำเนินการหรือควบคุมการดำเนินการ
อย่างใกล้ชิดโดยสัตวแพทย์ และควรมีการวางแผนให้มีอุปกรณ์และผู้เฝ้าระวังติดตามสัญญาณชีพของสัตว์อย่างใกล้ชิดอยู่ตลอดเวลา มีการปรับระดับความลึกของการสลบให้เหมาะสม และมีการเตรียมพร้อมทั้งทางด้านอุปกรณ์ สารน้ำ และเวชภัณฑ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้สามารถนำมาใช้แก้ไขปัญหาแทรกช้อนเหล่านั้นได้
อย่างทันท่วงที
การกระทำที่ไม่รอบคอบหรือไม่มีการวางแผนเตรียมความพร้อมอย่างถูกต้อง หรือการวางยาสลบในสัตว์โดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงให้สัตว์ได้รับอันตรายจนถึงตายได้