“ผู้รับเหมาช่วง” CFP ร้องนายกฯ เร่งแก้ปม “UJV” เบี้ยว “ค่าจ้าง” ขอตั้ง “กองทุน” เยียวยา
แรงงานกลุ่มผู้รับเหมาช่วงโครงการ CFP นับพันคน บุกยื่นหนังสือถึงนายกฯ วอนช่วยเคลียร์ปัญหา ตั้งกองทุนฉุกเฉินเยียวยา หลังกลุ่มรับเหมาต่างชาติ UJV ไม่จ่ายค่าจ้างหลายพันล้านบาท ด้าน "พ.ต.อ.ทวี" รับปากเร่งรัด-เยียวยา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 พ.ย. 67) กลุ่มผู้รับเหมาช่วง โครงการ CFP พลังงานสะอาด โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นำแรงงาน 28 บริษัท กว่า 1,000 คน มารวมตัวบริเวณตรงข้ามประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ
โดยกลุ่มผู้รับเหมาช่วงฯ นำโดย นายวีระพล โอชารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉัตรการช่าง แหลมฉบัง จำกัด หรือ CKC และนายชนินทร์ เสตะปุระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไออีทีแอล จำกัด หรือ IETL เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งช่วยเหลือ หลังถูกกิจการร่วมค้า UJV ที่ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte.Ltd, และ Saipem Singapore Pte., Ltd. ไม่จ่ายค่าจ้างนาน 6-8 เดือน รวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท
แม้จะส่งมอบงานตามสัญญาแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.67 ทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมาช่วงกว่า 100 ราย จนส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 10,000 คน รวมทั้งผลกระทบที่เกิดจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งระบุไว้ มิให้ผู้รับเหมาช่วงหยุดงานได้ แม้ว่าผู้รับเหมาหลักมิได้ชำระเงินค่างวดงาน ทำให้ผู้รับเหมาช่วงบางรายยังจำเป็นต้องดำเนินงานต่อโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
กลุ่มผู้รับเหมาช่วงฯ ตระหนักดีว่ามีสิทธิในการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าจ้างที่ค้างชำระตามสัญญา แต่การใช้สิทธิทางกระบวนการยุติธรรมไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และไม่ได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างหรือความล้าช้างของโครงการ และอาจต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีนานหลายปี ขณะที่ความเดือดร้อนยังคงดำเนินต่อไปและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องประสานขอความร่วมมือจากภาครัฐและผู้ถือหุ้นทางอ้อมของเจ้าของโครงการฯ พร้อมเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การค้างชำระค่าจ้างผู้รับเหมาช่วงในโครงการฯ รวมทั้งขอให้จัดตั้งกองทุนฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานและครอบครัว
นอกจากนี้ ขอให้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจจากตัวแทนภาครัฐ, PTT ผู้ถือหุ้นหลักของโรงกลั่นไทยออยล์ ร่วมกับเจ้าของโครงการ เพื่อติดตามและแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด โดยให้มีตัวแทนจากกลุ่มผู้รับเหมาช่วงร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะทำงาน และขอให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองผู้รับเหมาช่วงและแรงงานในโครงการขนาดใหญ่ด้วย
ด้าน พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กรณีนี้เราทราบถึงความเดือดร้อนของผู้รับเหมาช่วงฯ และที่สำคัญกลุ่มแรงงานที่ยังไม่ได้รับค่าแรง จะเร่งรับเรื่องไป โดยเบื้องต้นอยากให้มีตัวแทนผู้เดือดร้อนร่วมหารือกับฝ่ายรัฐบาล โดยมีกระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน เข้ามาร่วมด้วย ซึ่งเรื่องนี้ทราบว่าเป็นการทำงานรับช่วงต่อ จากบริษัทที่ได้มีข้อตกลงโดยใช้อนุญาโตตุลาการ
เบื้องต้นเราดูปัญหาเรื่องการผิดสัญญาไม่ได้รับค่าแรงก่อน และการเยียวยาให้เร็วที่สุดได้อย่างไร ประเทศไทยมีการประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งคือมิติแรงงาน จะขอไปดูในรายละเอียด เนื่องจากเป็นบริษัทต่างชาติด้วย จะต้องให้ตรวจสอบการทำสัญญาช่วงแรกด้วย
“ผู้เดือดร้อนต้องการได้รับความช่วยเหลือทันที รัฐบาลก็รู้ว่าความเดือดร้อนของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญรัฐบาลจะทำให้เร็ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังรับหนังสือที่บริเวณตรงข้ามประตู ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ตัวแทนกลุ่มผู้รับเหมาช่วงฯ ได้ขึ้นรถเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป