ปมร้อน “การเมือง” สะเทือน “รัฐบาล” นลท.กังวลกด SET หลุด 1,450 จุด

ปมร้อน “การเมือง” สะเทือน “รัฐบาล” นลท.กังวลกด SET หลุด 1,450 จุด


ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องปมร้อนทางการเมือง เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ถือว่านักลงทุนส่วนใหญ่ล้วนเอามาประกอบการตัดสินใจในเรื่องการทำธุรกิจแทบทั้งสิ้น ซึ่งในหลายอุตสาหกรรมก็มักจะต้องพึ่งพานโยบายหรือโครงการสนับสนุนของภาครัฐ หากว่าการเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแบบไม่คาดฝันก็ย่อมส่งผลกระทบตามมาต่อนโยบายต่างๆอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ในช่วงที่ผ่านมา SET Index จะปรับตัวลงมาเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จนทำให้นักลงทุนกลุ่มต่างชาติทยอยขายเงินลงทุนในหุ้นกลุ่มต่างๆ เพื่อรอความชัดเจน แต่แล้วเมื่อเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปรากฏว่าตลากทุนไทยยังปรับลงต่อ เพราะตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 67 ที่ SET Index ปรับตัวขึ้นไปสูงสุดที่ระดับ 1,489 จุด แต่มาจนถึงปัจจุบัน (12 พ.ย. 67) SET Index ปรับตัวลงมาแล้ว 44.75 จุด หลุดแนวรับสำคัญ 1,450 จุด มาอยู่ 1,445.07 จุด นั้นหมายความว่า ยังมีกดดันตลาดหุ้นไทย ที่ทำให้ต้องปรับตัวลงต่อจากปัจจัยการเมืองในประเทศ

ปมร้อนทางการเมืองที่ดูแล้วต้องลุ้นที่สุดคงหนีเงื่อนไขทางการเมืองที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในรูปแบบใดกันแน่ ปมแรกคือกรณี นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยที่มีการกล่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคเพื่อไทย (ผู้ถูกร้องที่ 2) ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 6 ประเด็น ผ่านสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ซึ่งต่อศาลรัฐธรรมนูญมีการรับคำร้องในวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา และทางศาลฯก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดในวันที่ 22 ต.ค.ให้มีการรวบรวมพยานหลักฐานต่างใน 15 วัน และล่าสุดอัยการสูงสุดก็ได้ทำหนังสือตอบกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ 8 พ.ย.ที่ผ่านมาเอง  จนล่าสุดมีข่าวว่าจะต้องรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ เป็นเพราะว่าคำร้องดังกล่าวจะถูกศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกวินิจฉัย ว่ารับหรือไม่ ในวันศุกร์ที่ 22 พ.ย.นี้

โดยพฤติกรรม 6 ประเด็น มีสาระสำคัญ คือ 1. นายทักษิณ ใช้พรรคเพื่อไทยควบคุมบริหารราชการแผ่นดิน ระวางมีโทษจำคุกแต่นอนโอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ 2. มีพฤติกรรมคบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯฮุน เซน ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองประเทศกัมพูชา ซึ่งมีระบบการปกครองที่ฝ่ายการเมืองมีอำนาจเหนือสถาบันพระมหากษัตริย์ 3. สั่งการให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชน

4.มีพฤติการณ์ครอบงำและเป็นผู้สั่งการแทน เพื่อหารือการเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯคนใหม่ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ที่บ้านพักส่วนตัว 5. เป็นผู้สั่งการพรรคเพื่อไทย ให้มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล 6. มีพฤติการณ์เป็นเจ้าของ และ เป็นผู้สั่งการให้พรรคเพื่อไทย ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 67 ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย. 67

ส่วนปมร้อนการเมืองเรื่องที่ 2 ก็ไม่ต่างกันมาก มาจากเป้าหมายเดียวกันคือมุ่งยุบพรรคการเมือง ซึ่งก็คือกรณี เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้พิจารณา 6 คำร้องที่มีผู้ร้องขอให้ กกต. พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ที่เกิดจากนายทักษิณ ทำการครอบงำ อีกทั้ง 6 พรรคการเมืองยินยอมให้นายทักษิณ  ชี้นำ ตรงนี้เองเลขาธิการกกต.มองว่ามีมูล จึงตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและมีความเห็นเสนอ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่สามารถขอขยายได้อีกครั้งละไม่เกิน 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งคำร้องนี้มาจาก 1.บุคคลนิรนาม 2.นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม 3.นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ 4.นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล นั่นเอง

โดยเรื่องนี้คงต้องรอดูว่าหลังจากมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว กกต.จะทำกานส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าส่งไปก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่สั่นคลอนทางการเมืองไม่น้อย และจะสะเทือนทำให้นักลงทุนหวั่นไหวไม่น้อย เมื่อความมั่นคงของรัฐบาลต้องสั่นคลอน อาจจะถึงขั้นส่งผลร้ายให้รัฐบาลล้มลงพังคลืนในคราวเดียว หากคำตัดสินออกมาเป็นลบ

โดยรวมแล้วเรื่องของการเมืองก็ยังต้องติดตามกันต่ออย่างไม่กระพริบตาจนรกว่าจะมีความชัดเจน ซึ่งฝ่ายที่เป็นคนร้องนั้นก็ถือว่าเป็นนักร้องประจำที่มีประสบการณ์มาอย่างโชกโชน ส่วนในฝั่งของผู้ถูกร้องก็เป็นถึงแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล หากพลาดท่าเสียทีในเกมกระดานครั้งนี้

ขณะที่ บล.เอเซียพลัส มีมุมมองว่า ความไม่แน่นนอนทางการเมืองไทย มักเป็นปัจจัยที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นบ้านเรา ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีผลต่อความเชื่อมั่นภายในประเทศ รวมถึงการเดินหน้า นโยบายต่างๆ ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยด้วย  ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมามีความคืบหน้าประเด็น “6 คำร้อง” ทนายธีรยุทธ ยื่นตรวจสอบ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดถกพิจารณา ‘รับ-ไม่รับ’ คำร้องดังกล่าว ในวันที่ 22 พ.ย. นี้  นอกจากนี้ยังมีคำร้องทางการเมืองไทยที่น่าติดตามคือ “6 คำร้อง” ที่ยื่นต่อ กกต. ให้ พิจารณายุบพรรคเพื่อไทย-พรรคร่วมฯ โดยต้องจับตา กกต. จะยื่นคำร้องต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ. พิจารณาหรือไม่ คาดเห็นความคืบหน้าช่วงปลาย พ.ย. 67 ตรงนี้ก็เชื่อว่าจะมีความชัดเจนตามมาหลายอย่างในเร็วนี้

Back to top button