รัฐเตรียมตั้ง “คณะกรรมการ” แก้ปม “ผู้รับเหมาช่วง” เจอ “สัญญาทาส” UJV แถมเบี้ยวค่าจ้าง
“ผู้รับเหมาช่วง”จาก UJV ในโครงการ CFP หวังกลไกรัฐ เร่งแก้ปมถูกบริษัทต่างชาติเบี้ยวจ่ายค่าจ้าง “ภูมิธรรม” เตรียมลงนามแต่งตั้ง “คณะกรรมการ” จะชัดเจนสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (13 พ.ย.67) มีความคืบหน้ากรณี กลุ่มผู้รับเหมาช่วง โครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นำแรงงานจาก 28 บริษัท รวมตัวบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พ.ย.67 เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ หลังถูกกิจการร่วมค้า UJV ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co.,Ltd., Petrofac South East Asia Pte.Ltd และ Saipem Singapore Pte.,Ltd. ค้างจ่ายค่าจ้างตามงวดงาน นานกว่า 6-8 เดือน รวมเป็นเงินหลายพันล้านบาท โดยมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง มารับหนังสือ
นายวีระพล โอชารส กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉัตรการช่าง แหลมฉบัง จำกัด หรือ CKC เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ถึงการหารือกับตัวแทนของรัฐบาลว่า สาระสำคัญของการประชุมเมื่อวานนี้ จะให้มีการตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงแรงงาน, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่ง ปตท. ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และมีตัวแทนผู้รับเหมาช่วงฯ เป็นกรรมการด้วยประมาณ 10 บริษัท เพื่อมาหารือกันว่า จะมีหนทางใดที่จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้เร็วที่สุด และให้ผู้รับเหมาช่วงฯ ยื่นเอกสารวิธีการที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา โดยไม่ผิดสัญญามาให้กรรมการที่ตั้งขึ้นนี้พิจารณา
“เราอยากจะให้หยุดงาน ประธานในที่ประชุมก็ถามทางกระทรวงแรงงานว่าหยุดได้ไหม แต่ก็มีข้อสัญญาที่ต้องอาศัยผู้ชำนาญการพิเศษเรื่องสัญญาต่างประเทศจากกระทรวงยุติธรรมเข้ามาช่วยหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานก็บอกว่าเป็นสัญญาไม่ได้จ้างแรงงาน ถ้าโดนไล่เบี้ยขึ้นมาผู้รับเหมาฯ ก็รับผิดก่อน ไม่เหมือนเคสที่แรงงานมีปัญหาที่แก้ได้เลยเพราะเป็นการจ้างแรงงานโดยตรงก็สั่งฟ้อง แต่เคสนี้เป็นการจ้างสัญญาจ้างทำของ ถ้าเกิดอะไรขึ้นพวกเราโดนก่อนในคดีแรงงาน แต่เราก็แจ้งไปแล้วว่าเรายังไม่มีเรื่องแรงงาน แต่ถ้าไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องการเงิน เร็ว ๆ นี้ ปัญหาแรงงานจะตามมา เพราะใกล้จะหมด Cash flow แล้วเหมือนกัน… ดูแลได้ไม่นานแล้วจะหมดกระสุนแล้ว” กรรมการผู้จัดการ CKC กล่าว
ส่วนที่ในสัญญากำหนดให้ผู้รับเหมาช่วงฯ ต้องไม่หยุดงานแม้จะไม่ได้ค่าจ้างตามงวดงานนั้น นายวีระพล ยืนยันว่า บริษัทที่เป็นเจ้าใหญ่ทั้งหมดยังไม่มีการหยุดงานเลย และไม่ได้หยุดจ่ายค่าแรงคนงาน โดยตั้งแต่มีข่าวเรื่องนี้แรงงานก็เริ่มไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่น ก็มีลาออก ย้ายถิ่นฐาน ที่เหลืออยู่บริษัทก็ประคับประคองกันมา จะรอดสิ้นปีนี้หรือไม่ยังไม่รู้ ต้องหมุนเงินจากโครงการอื่น กู้ธนาคารจนหมดวงเงิน OD แล้ว ผู้ถือหุ้นก็เริ่มระดมทุนส่วนตัวเข้ามาช่วย แต่ทรัพยากรก็มีจำกัด
ทั้งนี้ก่อนที่ UJV จะหยุดจ่ายเงิน ทาง CKC ทำงานไปแล้ว 70-80% แต่ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาความคืบหน้าของงานไม่ได้ดีมาก เพราะพนักงานก็ลาออก เหลือเดือนละไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ถ้าเขาจะเอาผิดเราในเรื่องสัญญาก็สามารถไล่เบี้ยเราได้ แต่พอไม่จ่ายเงิน การที่สัญญาระบุว่าเรื่องการไม่ชำระเงินไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ทำให้ฝ่ายผู้รับเหมาฯ ไม่สามารถจะไปบังคับให้เกิดการหยุดงานได้
นายวีระพล กล่าวอีกว่า เมื่อวานก็มีประเด็นคุยกัน มีคำถามไปทางรัฐบาลว่า แบบนี้เราสั่งให้ไทยออยล์แจ้งให้หยุดงานหรือระงับโครงการไว้ก่อนเลยได้หรือไม่ เพราะการก่อสร้างในโครงการทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นในขณะนี้ เงินก็ไม่จ่าย แต่ไม่มีใครตอบได้ เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัญญา ไม่กล้าฟันธง ก็เลยต้องรอให้เกิดคณะกรรมการ และให้ไทยออยล์มาหารือด้วย เพราะสัญญาระหว่างไทยออยล์กับ UJV ที่ทางรัฐบาลบอกว่าจะต้องทำเรื่องขอ เพราะถ้าภาครัฐขอ ไทยออยล์พร้อมที่จะเปิดสัญญาให้ดูว่ามีอะไรบ้างระหว่าง UJV กับ ไทยออยล์
กรรมการผู้จัดการ CKC กล่าวถึงความรู้สึกเมื่อเรื่องนี้ถึงมือรัฐบาลแล้วว่า เหมือนได้เพิ่มช่องทางที่เรียกร้องมากขึ้น มีหูตาของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมาช่วย ก็ต้องดูอีกครั้งว่าคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นจะแก้ปัญหาอะไรได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้ที่ผู้ว่าฯ ชลบุรี เรียกไปเจรจาก็สุดทางแล้ว พร้อมย้ำว่าเรื่องนี้เป็นข้อเรียกร้องระหว่างไทยออยล์กับ UJV อยากให้รีบตัดสินใจว่าจะไปต่ออย่างไร เพราะไทยออยล์ก็เสียหาย เนื่องจากโครงการก็ไม่เสร็จ ดอกเบี้ยก็เดิน ไม่มีใคร win เลย
มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนเกิดปัญหากระทบต่อผู้รับเหมาไทยนั้น “มีการเรียกร้องเงินเพิ่ม” ของทาง UJV ต่อไทยออยล์ โดยให้เหตุผลว่า ทำต่อไม่ไหว เนื่องจากการประมาณการจากงานที่เหลือ เทียบกับเงินที่ยังไม่ได้เคลม ไม่พอสำหรับที่จะทำให้งานจบ จึงให้ทางไทยออยล์จ่ายเพิ่ม แต่ทางไทยออยล์บอกว่าทำสัญญาแล้วจ่ายไม่ได้ คำว่าไทยออยล์จ่ายทุกบาททุกสตางค์ตามสัญญาถูกต้อง เหมือนจ้างผู้รับเหมาทำบ้าน 1 ล้านบาท แต่ทำไปทำมาเก็บเงินไปแล้ว เหลือ 2 แสนบาท 2 แสนบาทนี้ประเมินแล้วไม่พอที่จะทำจบ “ขอเพิ่มอีกแต่เท่าไหร่ไม่รู้” เป็นข้อที่ไทยออยล์ยังไม่ฟันธงว่า จะจ่ายเพิ่มแล้วไปต่อหรือจะไม่จ่ายเพิ่มแล้วยุติ ก็เลยไม่เคลียร์ ทำให้ทาง UJV ไม่สามารถจ่ายเงินให้ผู้รับเหมาช่วงได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางไทยออยล์ออกหนังสือมาว่า เคยจ่ายไปแล้วก้อนหนึ่งช่วงโควิด คงกลัวว่าจ่ายแล้วจะจบอีกหรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับคณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นมาแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า เนื่องจากเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรมด้วย โดย นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการ ซึ่งแนวทางสำคัญคือการต้องตรวจสอบสัญญาต่าง ๆ อย่างละเอียด