TIDLOR ส่งซิกพอร์ตสินเชื่อ “รถบรรทุก” ไตรมาส 4 ขยายตัว ฟาก NPL เหลือ 1.88%
TIDLOR ส่งซิกพอร์ตสินเชื่อ “รถบรรทุก” ไตรมาส 4/67 ขยายตัวแกร่ง ฟาก NPL เหลือ 1.88% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ไม่เกิน 2%
นายปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) หรือ TIDLOR เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของบริษัทผ่านงาน Opportunity Day จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 67 ว่าผลประกอบการไตรมาส 3/67 มีรายได้รวม 5,610.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.06% จากงวดเดียวกันของปีก่อน 4,834.32 ล้านบาท โดยเป็นผลจากธุรกิจสินเชื่อมียอดสินเชื่อคงค้าง 102,700 ล้านบาท เติบโต 12% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากพอร์ตสินเชื่อจำนำทะเบียน มีการเติบโต 0.4% ขณะที่กำไรสุทธิ 990.55 ล้านบาท
สำหรับผลงานดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกปี 2567 บริษัทรายได้รวม 16,383.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13,709.38 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,186.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.27% จากงวดเดียวของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 2,889.19 ล้านบาท สืบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอยู่ที่ 16% เป็นผลมาจากที่ปรับดอกเบี้ยรับ หรือ Yield ให้เป็นไปตามกลยุทธ์การปรับดอกเบี้ยตามความเสี่ยง
ประกอบกับธุรกิจนายหน้าประกันภัยยังเติบโตต่อเนื่องในระดับที่แข็งแกร่ง โดย 9 เดือนแรกเบี้ยประกันวินาศภัยเติบโต 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนประเภทสินเชื่อในพอร์ตโฟลิโอก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเช่นกัน ทั้งการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยรับก็ครอบคลุมการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินทำให้อัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯ ยังคงบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายปิยะศักดิ์ กล่าวอีกว่า ล่าสุดในส่วนของ D/E Ratio สิ้นไตรมาส 3/67 อยู่ที่ระดับต่ำ 2.46% บริษัทยังคงมีวงเงินสินเชื่อที่ไม่ได้เบิกใช้กว่า 24,000 ล้านบาท คุณภาพหนี้ และต้นทุนด้านเครดิต ทั้ง 2 ส่วนยังอยู่ภายใต้การควบคุม โดย NPL ณ สิ้นไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 1.88% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ที่ไม่เกิน 2% ถือว่าอยู่ระดับต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม ตามนโยบายการอนุมัติสินเชื่อที่ยังเป็นการอนุมัติอย่างระมัดระวัง และการจัดสรรพนักงานสาขาไปช่วยติดตามหนี้ ทำให้ติดตามหนี้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ บริษัทฯ มีอัตราส่วนเงินทุนสำรองอยู่ในระดับสูง ทั้งตัว NPL Coverage Ratio อยู่ระดับ 231% ขณะที่การเติบโตของ Loan Loss Reserve (LLR) หรือค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อยู่ที่ระดับ 4.34% และต้นทุนด้านเครดิตในไตรมาส 3/67 มีการปรับตัวขึ้นมาที่ 3.91% เกิดจากที่ยังมีการตัดหนี้สูญเพิ่มขึ้น
นายปิยะศักดิ์ กล่าวต่อว่า พอร์ตสินเชื่อช่วงเดือน ต.ค. เริ่มเห็นการเติบโตของการปล่อยสินเชื่อขยับตัวขึ้น และคาดว่าเดือน พ.ย. จะเร่งตัวของการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้คาดว่าในไตรมาส 4/67 น่าจะมีการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อดีกว่าไตรมาส 3/67 อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ คุณภาพของสินเชื่อ บริษัทฯ ได้โยกจากสาขามาช่วยทีมคอลเลคชั่นในการติดตามทวงถามหนี้ ทำให้เก็บเงินได้ดีขึ้นในทุกผลิตภัณฑ์ ทั้ง 2 ล้อ, 4 ล้อ และรถบรรทุก ส่วนสินเชื่อใหม่ก็ดีขึ้นกว่าไตรมาส 4 ของปีที่แล้วและต้นปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน ดังนั้นคาดว่า NPL และ Credit cost น่าจะลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4/67
พอร์ตสินเชื่อรถบรรทุกของเงินติดล้อแตกต่างจากผู้ประกอบการหลายราย เพราะส่วนใหญ่เป็นการจำนำทะเบียน ที่เหลือเป็นการซื้อขายรถบรรทุกมือสอง สินเชื่อทั้ง 2 ประเภท มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ารถบรรทุกป้ายแดง โดยรถบรรทุกป้ายแดงปล่อยสินเชื่อต่ำกว่า 10% ขณะที่บริษัทฯ ปล่อยอยู่ที่ 15-20% ดังนั้นกำไรของบริษัทฯ สูงกว่าบริษัทที่ทำรถบรรทุกป้ายแดงมาก และ Credit cost ต่ำกว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นด้วย ดังนั้นรถบรรทุกยังเป็นพอร์ตที่กำไรน้อยกว่าเดิม แต่ยังคงกำไรอยู่ และเป็นเหตุผลที่ทำให้บริษัทยังปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกต่อ และยังสร้างกำไรให้ผู้ถือหุ้นได้ดี ทั้งนี้ บริษัทฯ ขึ้นดอกเบี้ยสินเชื่อรถบรรทุก เพื่อสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
นายปิยะศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยืนยันมาเสมอว่ากลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน คือควรมีงบดุลที่แข็งแรง และมีความโปร่งใสในตัวเลขที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้น ดังนั้นลูกค้ากลุ่มไหนที่คิดว่าสุ่มเสี่ยงกับการผ่อนชำระไม่ได้ ก็จะ Write Off เร็วหน่อย เป็นกลยุทธ์และด้วยความตั้งใจ แต่คิดว่าส่วนใหญ่กลุ่มนั้น น่าจะหมดไปแล้ว ถึงมีความเชื่อว่าทั้ง Credit cost และ NPL formation น่าจะลงในไตรมาส 4/67 ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียม หรือ fee income รวมของบริษัทฯ หดตัวเล็กน้อย เพราะบางส่วนเป็นสินเชื่อใหม่ ดังนั้นสินเชื่อกำลังจะโตในไตรมาส 4 รายได้ที่เป็น fee income ที่ผูกกับสินเชื่อก็จะกลับมาเช่นเดียวกัน
ส่วนความคืบหน้าเรื่องการปรับโครงสร้างของบริษัทฯ เป็น Holding สถานะยังอยู่จุดเดิม อยู่ระหว่างขอใบอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ เชื่อว่าจะสามารถแจ้งเทนเดอร์ในไตรมาส 4 เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากทับซ้อนกับวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ อาจจะยืดเวลาเทนเดอร์ และมีปิดภายในไตรมาส 1/68
โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ กำลังสร้างจุดแข็งของ “เงินติดล้อ” ด้วยการลงทุนในแบรนด์ ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่สำคัญ น่าจะ 2-3 ปีที่แยกธุรกิจประกันออกจากธุรกิจสินเชื่อ ด้วยการเพิ่มโลโก้ ประกันติดโล่ และต้นปี 67 เปลี่ยนชื่อจากประกันติดล้อเป็นประกันติดโล่ โดยบัตรติดล้อ ยังคงเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้บริษัทฯ เติบโต
ณ ตอนนี้ มีแคมเปญทั้ง “ประกัน” ควบคู่ “สินเชื่อ” ซึ่งเป็นครั้งแรก โดยไม่ได้แย่งส่วนแบ่งการตลาดกัน และยังเห็นการมีส่วนร่วมของกลุ่มเป้าหมายที่ดีทั้ง 2 แคมเปญ เชื่อว่าเป็นทิศทางที่ถูกแล้วในการสร้างธุรกิจสินเชื่อกับธุรกิจประกันให้แยกกันแล้วอยู่ได้อย่างยั่งยืน สะท้อนความมั่นใจในการเติบโตในไตรมาส 4/67
“อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมทั้งหมดยังคงกู้ด้วยดอกเบี้ยคงที่ บริษัทฯ ยังคงได้รับการจัดอันดับเรตติ้ง TRIS ในระดับ A ถือเป็นอันดับสูงสุดในอุตสาหกรรม และการออกหุ้นกู้ในปี 2567 บริษัทได้รับยอดจองที่สูงกว่ายอดเสนอขาย รวมถึงไม่มีปัญหาเรื่องชำระคืนเงินกู้ มีสภาพคล่องเพียงพอในการชำระหนี้สนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจ” นายปิยะศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย