IRPC เจอสต๊อกลอส กดงบ Q3 พลิกขาดทุน 4.88 พันล้านบาท โบรกชี้ไตรมาส 4 ฟื้นตัว
IRPC รายงานงบไตรมาส 3/67 พลิกขาดทุน 4.88 พันล้านบาท เจอขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท โบรกมองผลการดำเนินงานไตรมาส 4/67 ฟื้นตัว โดยมีปัจจัยหนุนจากค่าการกลั่นที่ทยอยฟื้นตัวตามปัจจัยฤดูกาล
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 3 และงวด 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2567 มีกำไร ดังนี้
บริษัทฯ รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/67 ขาดทุนสุทธิ 4,879.96 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,438.60 ล้านบาท เป็นผลมาจากบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 79,732 ล้านบาท ลดลง 2% จากปีก่อนมีรายได้ขาย 81,642 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 11% ประกอบกับจากความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน สหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ชะลอตัว มีผลกระทบให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เป็นผลให้เกิดการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 3,366 ล้านบาท และขาดทุนจากการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่ได้รับ (NRV) จำนวน 1,634 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามไตรมาสนี้ บริษัทฯ บันทึก Net Inventory Loss 5,000 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้น 8,566 ล้านบาท จากไตรมาส 3/2566 ทำให้บริษัทฯ บันทึกขาดทุน Accounting GIM อยู่ที่ 1,350 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 115 เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ส่งผลให้ไตรมาสนี้ มีผลขาดทุน EBITDA จำนวน 4,843 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 182 จากงวดเดียวกัน ของปีก่อน
นอกจากนี้ บริษัทฯ บันทึกค่าเสื่อมราคา 2,327 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากสินทรัพย์ที่เพิ่มจากโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ประกอบกับมีต้นทุนทางการเงินสุทธิจำนวน 687 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาส 3/2566
ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2% สำหรับธุรกิจปิโตรเลียม Market GRM ที่ลดลง โดยหลักลดลงจากกลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ตามการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ
สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีมี Market PTF ที่เพิ่มขึ้น จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ PP และส่วนต่างราคาในกลุ่มสไตรีนิกส์ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคมีกำไรขั้นต้นคงที่ ส่งผลให้บริษัทฯ มี Market GIM ลดลง 32%
ขณะที่บริษัทฯ บันทึกกำไรจากตราสารอนุพันธ์จำนวน 763 ล้านบาท กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้ยืม 182 ล้านบาท และกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมัน 575 ล้านบาท
บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า แนวโน้มไตรมาส 4/67 คาดการณ์ผลการดำเนินงานหลักฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากฐานที่ต่ำ โดยมีปัจจัยหนุนจากค่าการกลั่นที่ทยอยฟื้นตัวตามปัจจัยฤดูกาล โดยเฉพาะอุปสงค์น้ำมันดีเซลดปรับตัวดีขึ้นจากการทำความร้อน สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ABS ปรับตัวดีขึ้นจาก manufacturing season ก่อนเข้าช่วงเทศกาลปลายปี รวมถึงตลาดมีความหวังต่อการฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีน อย่างไรก็ตามด้วยต้นทุนรวมต่อหน่วย ของบริษัทฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า Market GIM ทำให้คาดว่าผลการดำเนินหลักยังขาดทุน