นายกฯ หารือ “TikTok-Google-Microsoft” ยกระดับเศรษฐกิจดิจิทัลไทย
“แพทองธาร” ใช้เวทีเอเปค เจรจาผู้บริหารบิ๊กเทค “Google” ยันร่วมมือ “ดิจิทัล-คลาวด์-AI” กับไทย ด้าน “TikTok” มั่นใจไทยน่าลงทุน ขณะที่ “Microsoft” เชื่อมั่นไทยยังเป็นศูนย์กลางภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภารกิจของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่างเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก
เวลา 14.00 น. ของวันที่ 14 พ.ย.67 ตามเวลาท้องถิ่นกรุงลิมาซึ่งช้ากว่าไทย 12 ชั่วโมง ณ โรงแรม Swissotel กรุงลิมา ประเทศเปรู นายกรัฐมนตรี พบหารือกับ นาย Karan Bhatia รองประธานบริษัท ด้านการดูแลและกำหนดนโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์กับรัฐบาล จากบริษัท Google
โดย น.ส.แพทองธาร ยินดีที่ Google เคยประกาศการลงทุน จำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้าง Data Center และ Cloud Region ในไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของไทย ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะด้านดิจิทัลของไทย โดยเฉพาะด้านการศึกษาของเยาวชน รวมทั้งพัฒนาทักษะแรงงาน ในการ upskills และ reskills เพื่อรองรับการทำงานสมัยใหม่ด้วย
ด้าน นาย Karan Bhatia กล่าวชี่นชมนโยบายรัฐบาลไทยที่ส่งเสริมการใช้ดิจิทัล และพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาล ทั้งการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสำหรับการศึกษาและแรงงานไทย รวมทั้งใช้เทคโนโลยีเพื่อส่งเสริมการทำงานของภาครัฐ การขับเคลื่อนตามนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก หรือ Go Cloud First Policy ของรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ รองประธานบริษัทฯ ยังกล่าวภูมิใจที่สินค้าและบริการของ Google เช่น ระบบการค้นหา (Search engine) แผนที่ (Google map) ซึ่งเป็นบริการไม่มีค่าใช้จ่าย และYouTube ซึ่งคนไทยในทุกระดับได้ใช้ประโยชน์ รวมไปถึงผู้ประกอบการและคนไทย ใช้สร้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ สร้างรายได้ให้กับคนไทยด้วย
ทั้งนี้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องถึงความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน Cloud และ AI, การเสริมทักษะด้านดิจิทัล และ AI ให้กับคนไทยต่อยอดจากบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ Google ได้ลงนามกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เมื่อปี 66 โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่รัฐบาลมุ่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก
จากนั้น น.ส.แพทองธาร พบหารือกับ นายโซว จือ ชิว (Mr. Shou Zi Chew) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TikTok โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงอิทธิพลและความนิยมของ TikTok ในประเทศไทย ซึ่งมีเกือบ 50 ล้านผู้ใช้งาน และขอบคุณที่ TikTok ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ผ่านทางอีคอมเมิร์ซและการสร้าง Digital content
ด้าน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TikTok ชื่นชมนโยบายของรัฐบาลที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องถึงความสำคัญในการเสริมทักษะดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการและเยาวชน โดยนายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนทาง TikTok ร่วมมือกับรัฐบาลสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทย นำเสนอสินค้าไทยผ่านแพลตฟอร์ม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านการสร้างเนื้อหาด้านการท่องเที่ยวสู่ทั่วโลก
ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องสนับสนุนการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์อย่างปลอดภัยในทุกกลุ่มอายุ โดยนายกรัฐมนตรี เน้นย้ำการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบและสร้างสรรค์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์ของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีความปลอดภัย เพี่อสร้างผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator) ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พบหารือกับ นาย Antony Cook รองประธานบริษัทและรองประธานที่ปรึกษาฝ่ายทั่วไปและบริการลูกค้าของบริษัท Microsoft (Corporate Vice President & Deputy General Counsel, Customer & Partner Solutions)
นายกรัฐมนตรียินดีที่บริษัท Microsoft ที่มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทย พร้อมสานต่อจากการหารือ ระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี กับนาย Satya Nadella ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Microsoft เมื่อเดือน พ.ค.67 เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมาย “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค”
น.ส.แพทองธาร กล่าวย้ำถึงการให้ความสำคัญและลงทุนในระบบนิเวศดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน โดยหวังว่าบริษัท Microsoft จะเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนและความร่วมมือในด้านดิจิทัล ยืนยันนโยบายในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลภายใต้แพลตฟอร์มเดียว จึงหวังจะกระชับความร่วมมือกับ Microsoft ในเรื่องนี้
“เศรษฐกิจดิจิทัลถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจ หวังที่จะใช้ศักยภาพและข้อได้เปรียบด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการพัฒนาและยกระดับทักษะของมนุษย์ เพื่อเตรียมกำลังแรงงานให้มีทักษะเพียงพอ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในอนาคต ไทยพร้อมร่วมมือกับ Microsoft เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลและการเติบโตทางเศรษฐกิจ” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้าน ผู้บริหารด้านบริหารระดับสูงของบริษัท Microsoft กล่าวถึงวิสัยทัศน์และศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค และยังพร้อมที่จะร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในไทย ฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้แรงงานไทย ซึ่งจะเพิ่มความประสิทธิภาพและความสามารถการแข่งขันของประเทศไทยให้สูงขึ้น