“ก.ล.ต.” ส่งเสริมความรู้ตลาดทุน แนะรู้เท่าทัน “ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม”
“ก.ล.ต.” ส่งเสริมความรู้ตลาดทุน แนะไม่ควรมองข้ามข้อมูล Fund Fact Sheet "ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม?" ชู 5 เทคนิคลงทุนอย่างรู้เท่าทัน
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เผยแพร่บทความ เรื่อง “ลงทุนอย่างรู้เท่าทัน : ทำไมจึงไม่ควรละเลยค่าธรรมเนียมกองทุนรวม?” โดย นางสาวสาริกา อภิวรรธกกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลาดทุน ระบุว่า หลังจากทราบเทคนิคการอ่านหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม (Fund Fact Sheet) ที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของกองทุนรวมไปแล้ว
ล่าสุดวันนี้(15พ.ย.67) ก.ล.ต.มาตามสัญญาที่ได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า บทความในตอนนี้ จะพาไปเจาะลึกข้อมูลอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งปรากฏอยู่ใน Fund Fact Sheet นั่นก็คือ “ค่าธรรมเนียมกองทุนรวม”
เหตุผลที่เราต้องใส่ใจเรื่องค่าธรรมเนียมกองทุนรวม ก็เพราะค่าธรรมเนียมเป็นต้นทุนของผู้ลงทุนที่ต้องจ่าย จากการลงทุนในกองทุนรวมตามข้อตกลงที่ บลจ. กำหนด ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อผลตอบแทนรวมที่จะได้รับ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนสินค้าบริการประเภทอื่น ๆ ที่หากมีต้นทุนการผลิตสูง ก็กระทบกับกำไรของเจ้าของกิจการ ไม่ต่างกัน
ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมดูตรงไหน?
ข้อมูลค่าธรรมเนียมจะแสดงอยู่ใน Fund Fact Sheet แผ่นที่ 2 หลักใหญ่ใจความส่วนนี้ต้องการบอกว่า เพดานสูงสุดของการเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่เท่าใด และค่าธรรมเนียมที่เก็บจริงอยู่ที่เท่าใด โดยส่วนที่ผู้ลงทุนควรสังเกต คือ ค่าธรรมเนียมที่ “เก็บจริง” ที่จะเป็นต้นทุนการลงทุนของเรา ตามตัวอย่าง คือ บลจ. สามารถเก็บค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมได้สูงสุด 4.01% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน หรือ NAV แต่ปัจจุบัน เก็บจริงที่ 1.19% ของ NAV
*ค่าธรรมเนียมมาจากไหน?
การบริหารจัดการกองทุนรวม มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องหลายส่วนที่ทาง บลจ. จะคำนวณต้นทุนออกมาเป็นค่าธรรมเนียม โดยค่าธรรมเนียมกองทุนรวม มี 2 ประเภทหลัก คือ
(1) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม มาจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustee fee) ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน (register fee) ค่าธรรมเนียมการสอบบัญชี และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าที่ปรึกษาการลงทุน เป็นต้น
โดยค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม จะกำหนดอัตราเป็นเปอร์เซ็น (%) ต่อปี จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ไม่ว่ากองทุนจะกำไรหรือขาดทุนก็ตาม แต่ผู้ลงทุนอาจจะไม่รู้สึกว่าถูกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว เนื่องจากกองทุนจะหักออกจากราคา NAV ในทุกสิ้นวัน
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้จะดูไม่มากในรายวันหรือรายปี แต่หากใครที่ลงทุนระยะยาว เช่น 10 หรือ 20 ปี เมื่อคูณกันแล้ว ค่าธรรมเนียมที่ถูกหักก็มีผลต่อความมั่งคั่งของการลงทุนเราเหมือนกัน ฉะนั้น ควรพิจารณาค่าธรรมเนียมควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานว่า performance ของกองทุน เมื่อหักต้นทุนแล้วคุ้มค่าหรือไม่
(2) ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขาย (Front – End Fee) ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืน (Back – End Fee) ค่าธรรมเนียมการสับเปลี่ยนกองทุน ค่าธรรมเนียมการโอน (Transfer Fee) รวมทั้งอาจมีค่าปรับที่ระบุไว้
สำหรับค่าธรรมเนียมในส่วนนี้กองทุนจะเก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง ทุกครั้งเมื่อทำรายการซื้อ ขาย สับเปลี่ยน โอนหน่วยลงทุน โดยจะเก็บรายครั้งคิดเป็น % ของมูลค่าการซื้อขาย ซึ่งกองทุนรวมอาจเรียกเก็บหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมในส่วนนี้ ฉะนั้น หากใครซื้อขายถี่ก็อย่าลืมดูค่าธรรมเนียมใน Fund Fact Sheet ด้วยว่า คิดหรือไม่ คิดเท่าใด เพราะอาจเป็นไปได้ที่ต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ถูกหัก จะไม่คุ้มกับผลตอบแทนที่ประเมินไว้
ตัวอย่าง กองทุน ABC มีราคา NAV เท่ากับ 20 บาท เก็บค่าธรรมเนียมซื้อ 2% ผู้ลงทุนจะต้องจ่ายเงินซื้อ 20.40 บาท กลับกันหากกองทุนเก็บค่าธรรมเนียมขาย 2% ผู้ลงทุนจะได้เงินจากการขาย 19.60 บาท
*ต้นทุนป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว อยากจะขอเล่าเพิ่มเติมกับอีกหนึ่งต้นทุนสำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ เพราะในปัจจุบันกองทุนรวมประเภทนี้ได้รับความสนใจมากขึ้น
สิ่งที่ต้องรู้ คือ กองทุนรวมที่มีการลงทุนในต่างประเทศ จะมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ผู้ลงทุนที่สนใจกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ ควรสังเกตในเรื่องนโยบายป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรวม เนื่องจากนโยบายดังกล่าวมีผลต่อความเสี่ยงในภาพรวมจากการลงทุนและอัตราผลตอบแทนสุทธิที่จะได้รับ
โดยนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุนรวม แบ่งคร่าว ๆ เป็น 3 แนวทาง คือ
-ไม่ป้องกันเลย แปลว่า “เปิด” รับความเสี่ยงเต็มจำนวน สมมติว่าการลงทุนของกองทุนในต่างประเทศไม่มีกำไรเกิดขึ้น แต่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าตอนลงทุน เมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศที่เราไปลงทุน เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) ผลตอบแทนจะถูกบวกกำไรส่วนเพิ่มจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเข้ามาด้วย แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่ากว่าตอนที่เริ่มลงทุน ผลก็จะเป็นในทางตรงข้าม โดยจะได้รับผลขาดทุนจากค่าเงินนั่นเอง การลงทุนในกองทุนที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนี้ จึงเหมาะกับผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้เพิ่มเติมได้
-ป้องกันเต็มจำนวน แปลว่า “ปิด” รับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนจะไม่ได้รับผลจากค่าเงินที่ผันผวน แต่สิ่งที่ต้องแลกมา ก็คือ ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากธุรกรรมการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนนั้นด้วย
– ป้องกันบางส่วน แปลว่า มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้บางส่วน ซึ่งการกำหนดว่าจะป้องกันความเสี่ยงเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดตามนโยบายการลงทุนและการวิเคราะห์ของผู้จัดการกองทุนว่า มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาท และค่าเงินของประเทศที่จะไปลงทุนอย่างไร
ในกรณีนี้ ผลตอบแทนของกองทุนรวมมีโอกาสได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งด้านบวกและด้านลบตามสัดส่วนที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ ตัวอย่าง กองทุน A ลงทุนแล้วได้กำไรจากสินทรัพย์ 3% แต่มีค่าใช้จ่ายจากการป้องกันความเสี่ยงคิดเป็น 5% ส่งผลให้ผลตอบแทนสุทธิจากการลงทุนขาดทุน 2% เป็นต้น
*5 เทคนิคเท่าทันค่าธรรมเนียมกองทุนรวม
ใครที่อ่านมาถึงตรงนี้คงรู้จักและเข้าใจค่าธรรมเนียมกองทุนรวมกันพอสมควรแล้ว เราก็มีเทคนิคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการลงทุนในกองทุนรวมของทุกคน
1.เช็กค่าธรรมเนียมมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ เช่น กองทุนรวมประเภทมุ่งหวังผลการดำเนินงานให้สอดคล้องกับดัชนีชี้วัด (passive) ส่วนใหญ่จะมีค่าธรรมเนียมถูกกว่ากองทุนรวมประเภทมุ่งหวังให้ผลการดำเนินงานชนะดัชนีชี้วัด (active) หากอยากประหยัดค่าธรรมเนียมและให้ผลตอบแทนเป็นไปตามตลาด เลือก passive fund จะตอบโจทย์กว่า
2.หากกองทุนรวมมีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน ควรเลือกซื้อกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำกว่า ทั้งนี้ ควรคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
3.หากกองทุนรวมคิดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อหรือขาย เราไม่ควรซื้อขายกองทุนรวมบ่อย ๆ เพราะจะมีต้นทุนเพิ่มทุกครั้งเมื่อมีการซื้อหรือขาย และการเก็งกำไรระยะสั้นในกองทุนรวมค่อนข้างได้ไม่คุ้มเสีย ควรเน้นการลงทุนระยะยาวมากกว่า
4.ติดตามการเปลี่ยนแปลงค่าธรรมเนียมใน Fund Fact Sheet หาก บลจ. เก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มจะต้องแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 วันทำการ ก่อนเรียกเก็บค่าธรรมเนียม
5.อย่ากลัวค่าธรรมเนียมจนเกินไป ควรเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างผลการดำเนินงานและค่าธรรมเนียมควบคู่กันไป เพราะถึงแม้จะคิดค่าธรรมเนียมมากกว่า แต่ถ้ากองทุนบริหารจัดการได้ดีให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ก็จะเป็นผลดีมากกว่า เมื่อเทียบกับกองทุนรวมที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมและผลตอบแทนไม่ดี
ขอฝากทิ้งท้ายข้อคิดบทนี้สักนิดว่า การลงทุนในกองทุนรวม แม้ว่าจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลบริหารจัดการเงินลงทุนให้ก็จริง แต่เราในฐานะเจ้าของเงินลงทุนก็ต้องรู้ทันด้วยว่า เรามีต้นทุนจากการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม หรือค่าป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน (ถ้ามี) มากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่าหรือไม่ หมั่นติดตามการลงทุน เพื่อให้จุดหมายปลายทางของการลงทุนของเราไปสู่เป้าหมายได้อย่างแท้จริง