CFP สะดุด! TOP เลื่อนเปิดไร้กำหนดพิษ “เบี้ยวค่าแรง” SRICHA-CAZ ตั้งสำรองอ่วม
TOP เลื่อนเปิดโครงการ CFP มูลค่า 1.6 แสนล้านบาท อย่างไม่มีกำหนด เตรียมสรุปผลกระทบจากกลุ่มซัมซุงภายใน Q1/68 โบรกเกอร์ประเมินเลื่อน COD ส่อลากยาวถึงปี 69 ผวาต้นทุนพุ่งกระฉูด ระบุตัวเลขเพิ่มขึ้นทุก 100 ล้านดอลลาร์ฯ ส่งผลต่อราคาประเมินหุ้น TOP ลดลง 1.30 บาท “บล.บัวหลวง” แนะ “ขาย” ล่าสุดพบงบ SRICHA ไตรมาส 3 ขาดทุนยับ 744 ล้านบาท หลังตั้งสำรองเผื่อขาดทุนงาน CFP กว่า 840 ล้านบาท ขณะที่ CAZ โดนด้วย กำไรลดฮวบ ขณะที่ “กลุ่มรับเหมาช่วง” เตรียมบุกร้องตลท.-ปตท.-ไทยออยล์ รวมทั้งสถานทูตเกาหลี ร้องขอความยุติธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา จากการประชุมร่วมระหว่างนักวิเคราะห์และผู้บริหารบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ยอมรับว่าการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการพลังงานสะอาด หรือ CFP (Clean Fuel Project) มีความจำเป็นต้องเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากการหยุดงานประท้วงของผู้รับเหมาช่วง ที่ได้รับผลกระทบจากกิจการร่วมค้า UJV ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte., Ltd. ค้างจ่ายค่าจ้างตามงวดงานนานกว่า 6-8 เดือน
โดยนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์ร่วมกับไทยออยล์ ผู้บริหารได้ยอมรับว่า บริษัทต้องเลื่อนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการพลังงานสะอาด มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และคาดว่าช่วงต้นไตรมาส 1/2568 จะสามารถสรุปผลกระทบจากความล่าช้าของโครงการดังกล่าวได้
ผู้บริหาร บริษัท ไทยออยล์ มองว่า CFP เป็นโครงการสำคัญหนุนการเติบโตในระยะยาว โดยจะเข้ามาเพิ่มกำลังการผลิตสูงถึง 45% เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบัน 275,000 บาร์เรลต่อวัน และส่งให้ผลิต “น้ำมันเบา” หรือ light product เพิ่มขึ้น และใช้ “น้ำมันหนัก” หรือ heavy crude ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรมีโอกาสสูงขึ้น รวมถึงมีมูลค่าสูงขึ้นด้วย
ดังนั้น TOP จึงต้องผลักดันให้สำเร็จและไม่ปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ ซึ่งปัจจุบันเผชิญกับความล่าช้าของการก่อสร้างจากผู้รับเหมาช่วง 26 ราย ประท้วงเรียกร้องค่าแรงที่ค้างจ่ายจากผู้รับเหมาฯ หลัก (UJV) ซึ่ง TOP และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ UJV แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมใช้มาตรการที่จำเป็นเพื่อให้การก่อสร้างโครงการสำเร็จ
ทั้งนี้ บริษัทกำลังอยู่ระหว่างประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบด้วย เบี้ยปรับและเงินประกันผลงาน 10% ของมูลค่าโครงการ มาช่วยชดเชยความเสียหายหากเกิดขึ้น
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี มองว่า ธุรกิจโรงกลั่นมีทั้งปัจจัยบวกและลบช่วงปี 2568 ผู้บริหารระบุว่า อาจมีความท้าทายจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง และส่งผลให้เกิด stock loss หาก OPEC+ ไม่ปรับเลื่อนแผนเพิ่มกำลังการผลิต จะทำให้กำลังการผลิต (Supply) เพิ่มจนเกิดปริมาณการผลิตมากเกินความต้องการ (Oversupply) ทั้งนี้ด้านค่าการกลั่นมองว่ามีการฟื้นตัวจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้น้ำมันอากาศยานและ Gasoil spread ฟื้นตัว นอกจากนี้คาดทุ่นรับน้ำมันดิบ/SBM จะกลับมาเปิดใช้งานภายในไตรมาส 2/2568 ลดค่า ship-to-ship ได้
ทั้งนี้ มีมุมมอง slightly negative ต่อข้อมูลที่ได้รับจากงานประชุมนักวิเคราะห์ ที่กำหนดการ COD โครงการ CFP และต้นทุนส่วนเพิ่มที่จะเพิ่มขึ้นยังไม่ชัดเจน แม้นับจาก 26 ผู้รับเหมาช่วงนัดประท้วงราคาหุ้นลดลง 15% หรือ 7.25 บาท รับแรงกดดันประเด็นดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ประเด็นข้างต้นจะยังคงค้างคา (Overhang) จนกว่ามาตรการที่จะทำให้ผู้รับเหมาช่วงกลับมาก่อสร้างมีความชัดเจน โดยคาดการประเมินผลกระทบโครงการ CFP คืบหน้าช่วงต้น Q1/68 ประเมินทุก ๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะกระทบราคาเป้าหมาย TOP ประมาณ 1.30 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ช่วง COVID การก่อสร้างล่าช้า ทำให้มีต้นทุนโครงการเพิ่มมาแล้วประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท)
บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งสมมติฐานว่า การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ CFP จะล่าช้าออกไปเกินกว่าปี 2569 โดยจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อค่าการกลั่น หรือ GRM ปี 2569 และมีต้นทุนส่วนเพิ่ม ทั้งนี้งบการลงทุนของโครงการ CFP ล่าสุดถูกปรับเพิ่มขึ้นอีก 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) มาเป็น 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 180,000 ล้านบาท) เนื่องจากต้นทุนส่วนนี้เพิ่มและความล่าช้าของโครงการอีก 24 เดือน อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ การประท้วงของคนงานในโครงการ ซึ่งทำให้กำลังคนลดลงในไซต์งาน มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดต้นทุนส่วนนี้เพิ่มและโครงการล่าช้าออกไปอีก อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นสัญญาณจากผู้บริหารของ TOP ที่ต้องตั้งสำรองสำหรับการด้อยค่าของสินทรัพย์อันเกิดจากความล่าช้าและต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ดังนั้นราคาเป้าหมายกลางปี 2568 ของหุ้น TOP จึงลดลง 11% จาก 53.60 บาท เป็น 47.50 บาท
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) แนะนำ “ขาย” หุ้น TOP จากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเลื่อนกำหนดการเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการ CFP และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาหุ้น
ขณะที่ บริษัท ศรีราชาคอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SRICHA หนึ่งในบริษัทรับเหมาช่วงรายใหญ่โครงการพลังงานสะอาดของบริษัท ไทยออยล์ เปิดเผยว่า งบไตรมาส 3/2567 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 744.04 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 129.34 ล้านบาท ทำให้งวด 9 เดือนปี 2567 มีผลขาดทุน 570.03 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 58.09 ล้านบาท
โดยเป็นผลมาจากการชะลอการจ่ายชำระหนี้จากลูกหนี้รายหนึ่งของบริษัทที่เป็นผู้รับเหมาหลักงานก่อสร้างโครงการแห่งหนึ่ง มียอดคงเหลือของลูกหนี้การค้าจำนวน 1,190.30 ล้านบาท บริษัทได้บันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากลูกหนี้การค้าสุทธิ จากยอดรายได้รับล่วงหน้าและเงินรับล่วงหน้า 490.60 ล้านบาท และมียอดคงเหลือของสินทรัพย์ที่เกิดจากสัญญา 427.40 ล้านบาท โดยบันทึกค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 427.40 ล้านบาท ทำให้กลุ่มบริษัทบันทึกผลขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ทางการเงินจำนวนเงินรวม 840.30 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา SRICHA แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ได้รับงานการจ้างงานจากกลุ่ม UJV (JOINT VENTURE OF PETROFAC-SAMSUNG-SAIPEM) โครงการ CFP ของบริษัท ไทยออยล์ มูลค่า 3,260 ล้านบาท เพื่อทำงานด้าน Main mechanical works for WBS-C Installation of Piping Work, Equipment Installation, Structural Steel including an installation of Insulation, Fire Proof and Scaffolding work กำหนดเริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. 2567-ส.ค. 2568
สำหรับรายได้จากการรับเหมาก่อสร้าง มีจำนวน 269 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 358.10 ล้านบาท คิดเป็น 57.10% เนื่องจากลูกค้าประสบปัญหาบางโครงการ ทำให้งานชะลอตัวลงและยังรอข้อสรุปอยู่ ส่งผลทำให้การส่งมอบงานช้าลง นอกจากนี้รายได้จากการให้บริการมีจำนวน 76.64 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10.06 ล้านบาท คิดเป็น 11.60% เนื่องจากบริษัทย่อยและสาขามีปริมาณลดลง
ขณะที่ บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ อีกหนึ่งในบริษัทรับเหมาช่วงโครงการ CFP ระบุ กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่สำหรับไตรมาส 3/2557 จำนวน 9.11 ล้านบาท ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2566 ที่มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 59.92 ล้านบาท โดยอัตรากำไรสุทธิที่ลดลง เป็นผลจากการปรับปรุงต้นทุนงบประมาณบางโครงการให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น การรับรู้ผลขาดทุนจากบริษัทย่อย ประกอบกับโครงการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงได้ส่งมอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นตามที่กล่าวไว้ข้างต้น
ทั้งนี้ ช่วงปี 2566-2567 พบว่า CAZ มีการเซ็นสัญญางานโครงการพลังงานสะอาด (CFP) จำนวนรวม 11 งาน มูลค่า 2,846.83 ล้านบาท ประกอบด้วย 1)งานโยธา (HCU/RHCU และอื่น ๆ) มูลค่า 775.62 ล้านบาท ระยะเวลา 21 เดือน (13 มี.ค. 2566) 2)งานผลิตโครงสร้างเหล็กและระบบงานใต้ดิน มูลค่า 37.33 ล้านบาท ระยะเวลา 11 เดือน (13 มี.ค. 2566) 3)งานโยธา (WBS E02&E09B) มูลค่า 150 ล้านบาท ระยะเวลา 12 เดือน (16 มี.ค. 2566) 4)งานโยธา พื้นที่ WBS E09/E04 มูลค่า 335 ล้านบาท ระยะเวลา 21 เดือน (2 มิ.ย. 2566) 5)งานติดตั้งโครงสร้าง งานดัดแปลงชิ้นงาน งานเครื่องกล งานท่อ มูลค่า 72.01 ล้านบาท ระยะเวลา 11 เดือน (2 มิ.ย. 2566) 6)งานออกแบบ จัดซื้อ จัดจ้าง ผลิตขึ้นรูปและติดตั้งหอกลั่นโพรเพน (DePropanizer) มูลค่า 582.88 ล้านบาท ระยะเวลา 22 เดือน (28 ส.ค. 2566) 7)งานติดตั้งโครงสร้าง งานดัดแปลงชิ้นงาน งานเครื่องกล งานท่อ มูลค่า 112.85 ล้านบาท ระยะเวลา 11 เดือน (28 ส.ค. 2566) 8)งานติดตั้งโครงสร้าง งานดัดแปลงชิ้นงาน งานเครื่องกล งานท่อ มูลค่า 137.14 ล้านบาท ระยะเวลา 11 เดือน (18 ธ.ค. 2566) 9)งานจัดหาและผลิตขึ้นรูปชิ้นงานท่อ มูลค่า 77.08 ล้านบาท ระยะเวลา 20 เดือน (18 ธ.ค. 2566) 10)งานจัดหาและผลิตขึ้นรูปชิ้นงานท่อ มูลค่า 178.52 ล้านบาท ระยะเวลา 7 เดือน (8 ต.ค. 2567) 11)งานติดตั้งโครงสร้าง งานดัดแปลงชิ้นงาน งานเครื่องกล งานท่อ มูลค่า 389 ล้านบาท ระยะเวลา 7 เดือน (24 ต.ค. 2567)
แหล่งข่าวจากผู้ประสานงานของกลุ่มผู้รับเหมาช่วงโครงการ CFP เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ขณะนี้กลุ่มผู้รับเหมาช่วงกำลังรอการตั้ง “คณะกรรมการ” ที่มีภาครัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะร่วมกันเข้ามาแก้ปัญหาการค้างชำระค่างวดงานของกลุ่มผู้รับเหมาหลักจากต่างประเทศ (กลุ่มซัมซุง) โดยได้เตรียมรายชื่อของตัวแทนฝ่ายกลุ่มผู้รับเหมาช่วงไว้แล้ว และพร้อมเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐทันที
โดยยอมรับว่ามีแนวความคิดที่จะเคลื่อนไหวไปที่อื่น ๆ เช่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รวมทั้งสถานทูตเกาหลี
อย่างไรก็ตาม ส่วนของสถานทูตทางกลุ่มยังรอดูทางรัฐบาลก่อน เพราะวันที่หารือกับรัฐบาลเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ภาครัฐเสนอที่จะให้กระทรวงการต่างประเทศประสานนอกรอบกับสถานทูตเกาหลี