เดือด! 28 บริษัทผู้รับเหมา CFP ประกาศสไตรค์ ทวงหนี้ UJV ค้างจ่าย 6 พันล้าน
28 บริษัทผู้รับเหมา “โครงการพลังงานสะอาด CFP” ร่วมลงสัตยาบันไม่ดำเนินงานต่อ หลัง UJV ค้างจ่ายหนี้กว่า 6 พันล้านบาท เตรียมยื่นหนังสือทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจากเจ้าของโครงการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ ( 18 พ.ย.67) เมื่อเวลา 10.00 น. กลุ่มผู้รับเหมาในโครงการพลังงานสะอาด CFP ( Clean Fuel Project) โรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ประกอบด้วย 28 บริษัทผู้รับเหมา ซึ่งมีมูลหนี้ค้างชำระที่ยังไม่ได้รับการชำระจากผู้รับเหมาหลัก UJV นาน 8 เดือน รวมเป็นเงินกว่า 6 พันล้านบาท ได้ร่วมกันลงสัตยาบัน ที่จะไม่ดำเนินงานในโครงการพลังงานสะอาดต่อ หากไม่ได้รับการชำระหนี้เก่าทั้งหมดจากผู้รับเหมาหลัก UJV ที่ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd., Petrofac South East Asia Pte. Ltd., และ Saipem Singapore Pte., Ltd.) ซึ่งจะเริ่มทยอยหยุดโดยใช้เรื่องปัญหาทางการเงินของแต่ละบริษัท ยกมาเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานตามสัญญาต่อได้ เพื่อป้องกันการฟ้องร้องทางคดีในภายหลัง
โดยการลงนามของผู้รับเหมาใน โครงการพลังงานสะอาด CFP ครั้งนี้จัดขึ้นที่ห้องประชุม Ballroom โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ สวีท ศรีราชา แหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมีตัวแทนจาก 28 บริษัทเข้าร่วม เกือบ 50 คน
ด้านนายฉัตรมงคล เขมาภิรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีราชา คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SRICHA ให้เหตุผลของการลงสัตยาบันร่วมกันว่าเป็นเพราะผู้รับเหมาบางเจ้าถึงขั้นล้มละลายแล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่บางเจ้าเริ่มมีปัญหา Cash Flow บางบริษัทก็เริ่ม ไม่มีเงินพอจ่ายค่าแรงคนงานและ supplier
“ขณะนี้บริษัทเหล่านี้ได้สูญเสียเครดิตในตลาดไปหมดแล้ว เพราะการติดค้างค่างวด supplier ซึ่งการขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลต่อการเช่าเครื่องจักรที่จะนำมาใช้ในการก่อสร้าง และเป็นเรื่องยากที่จะกลับมาได้ง่ายเหมือนเดิม อีกทั้งทางธนาคารก็ไม่พิจารณาปล่อยกู้ให้สำหรับโครงการนี้อีกด้วย วันนี้ผู้รับเหมาจึงอยู่ในสภาพโดนทั้งขึ้นและร่อง” นายฉัตรมงคลกล่าว
นายฉัตรมงคล กล่าวอีกว่า ปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หาก UJV ไม่มีการชำระหนี้เก่าหรือเงื่อนไขการจ่ายค่างวดในอนาคตไม่ชัดเจน หรือชำระหนี้ตามกำหนดเวลาในสัญญาอย่างเคร่งครัด ในทุกช่วงระยะเวลาของการดำเนินงานโครงการฯ ก็ถือเป็นการยากที่จะเรียกความเชื่อมั่นของคนงานทั้งหมดร่วมกว่า 10,000 กว่าชีวิตในการที่จะกลับมาทำงานกับบริษัทผู้รับเหมาช่วงอีก เพราะไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับเงินเดือนสม่ำเสมอ หรืออาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมอีก
“ดังนั้นจึงเป็นเหตุสำคัญที่จะต้องมีการลงสัตยาบันร่วมกันว่าจะไม่กลับไปทำโครงการ CFP อีกหากหนี้เก่าทั้งหมดของพวกเราไม่ได้รับการเยียวยาหรือชำระ และเพื่อเรียกร้องให้เจ้าของโครงการพลังงานสะอาด กำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาหลักดำเนินการชำระหนี้ให้แก่กลุ่มผู้รับเหมาช่วงทุกบริษัทที่เกี่ยวข้อง ภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยไม่มีข้อยกเว้น”
เพราะแม้ที่ผ่านมา กลุ่มผู้รับเหมา จะเดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอความช่วยเหลือและชี้แจงให้รับทราบถึงผลกระทบที่กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาช่วงโครงการก่อสร้างโรงกลั่นน้ำมันไทยออยล์ ถูกเบี้ยวค่าแรงแม้จะส่งมอบงานตามสัญญาเป็นเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 จนทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทผู้รับเหมาช่วงรวมกว่าหลาย ราย และยังได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานกว่า 10,000 คน
โดยมี พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับมอบเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2567 และในที่ประชุมได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอย่างเร่งด่วนโดยมีการเชิญผู้เข้าร่วมเพิ่มคือ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไทยออยล์ และกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ ปตท. โดยชี้แจงให้ผู้รับเหมารวบรวมคำร้องทั้งหมดให้เป็นแบบผังเดียวกันเพื่อง่ายในการพิจารณาและเร่งรัดขบวนการให้รู้ผลภายใน 1 เดือน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานในคณะกรรมการชุดนี้
อีกทั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 ที่ผ่านมาตัวแทนบริษัทผู้รับเหมา จะได้นำหลักฐานวางบิลค่างวดงานเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง เพื่อเอาผิดทางอาญาถึงที่สุดกับกลุ่ม UJV ผู้จัดการ ผู้กระทำการแทน ผู้รับเหมาหลักหรือผู้แทนและบุคคลเกี่ยวข้องฐานทุจริตหลอกลวง ไม่จ่ายค่าจ้างตามสัญญา และยังให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหนังสือ ค้ำประกันของผู้รับเหมาช่วงเป็นตัวประกัน ซึ่งทางผู้กำกับการ สภ.แหลมฉบัง ก็จะเริ่มขบวนการสอบสวนตั้งแต่ 19 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 ที่มีการนำกลุ่มผู้รับเหมาช่วงกว่า 3,000 คน เดินขบวนไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้บริหารบริษัท ไทยออยล์ ที่ด้านหน้าโรงกลั่นใน อ.ศรีราชา เพื่อให้รับทราบถึงปัญหาและความเดือดร้อนโดยขอให้ บริษัท ไทยออยล์ ช่วยเจรจาให้กลุ่ม UJV ยอมจ่ายค่าจ้างที่ยังค้างจ่าย จนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต้องเรียกประชุมร่วมทุกฝ่ายเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข
แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งหลังจากนี้กลุ่มผู้รับเหมายังจะขอพบผู้บริหารไทยออยล์ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามและติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหา ซึ่งขณะนี้ยังรอการตอบกลับจาก “ไทยออยล์”