ชาวนายิ้ม! ปีนี้ “ข้าวเปลือก” ราคาพุ่ง นายกฯ กำชับเร่งหามาตรการหนุน “เกษตรกร”

"พาณิชย์" เผยข่าวดี ราคาข้าวไทยปี 67 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ทั้งราคาส่งออก-ราคาข้าวเปลือก นายกฯ สั่งการกระทรวงพาณิชย์ เร่งมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร


นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้กระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดและเร่งดำเนินการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการให้กำกับดูแลราคาสินค้าเกษตรให้มีเสถียรภาพ เพื่อเป็นการยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร และเร่งดำเนินการมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ประกอบด้วย 1. สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี เป้าหมาย 3 ล้านตัน วงเงิน 8,362.76 ล้านบาท 2. สินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินชดเชย 656.25 ล้านบาท และ 3. ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการเก็บสต๊อก เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงิน 585 ล้านบาท

โดยจากการติดตามสถานการณ์ราคาข้าวนาปี 2567/68 ของกรมการค้าภายใน พบว่า ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดคละในบางพื้นที่ ราคาปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณข้าว ในสต็อกของโรงสีลดลง โรงสีบางรายที่มีความต้องการสินค้าเพื่อใช้และเก็บสต็อก เสนอราคารับซื้อสูงขึ้น โดยในภาพรวมข้าวเปลือกนาปี 67/68 ออกสู่ตลาดแล้วประมาณ 13.4 ล้านตัน หรือประมาณ 50%

ณ วันที่ 15 พ.ย.67 ข้าวเปลือกเจ้านาปี 67/68 ราคาข้าวแห้ง (ความชื้น 15%) 8,900-10,200 บาท/ตัน ราคาข้าวเกี่ยวสด 7,800-9,000 บาท/ตัน พบราคาปรับตัวสูงขึ้นในหลายพื้นที่ภาคกลาง เช่น สุพรรณบุรี ราคาข้าวแห้ง เฉลี่ย 10,550 บาท/ตัน เพิ่มขึ้น 500 บ/ตัน จากสัปดาห์แรกของ เดือนพ.ย.67 กำแพงเพชร สุโขทัย 9,600 บาท/ตัน (+200 บาท/ตัน) สิงห์บุรี 9,800 บาท/ตัน (+200 บาท/ตัน) เป็นต้น ข้าวเปลือกปทุมธานี (ความชื้น 15%) ปัจจุบันอยู่ที่ 12,500-13,000 บาท/ตัน ราคาเกี่ยวสด อยู่ที่ 9,700- 10,100 บาท/ตัน โดยสุพรรณบุรี เฉลี่ย 13,500 บาท/ตัน (+200 บาท/ตัน) อุตรดิตถ์ 12,500 บาท/ตัน (+100 บาท/ตัน)

ข้าวเปลือกหอมมะลิ ปัจจุบันออกสู่ตลาดแล้ว ประมาณ 4 ล้านตัน โดยราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเกี่ยวสด (ความชื้น 30%) อยู่ที่ 12,000 -12,400 บาท/ตัน คิดเป็นข้าวแห้ง (ความชื้น15%) อยู่ที่ 15,500 – 16,000 บาท/ตัน ราคาเฉลี่ยคงที่จากสัปดาห์ก่อน แต่พบว่ามีบางพื้นที่ราคาเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นเดือนพ.ย.67 เช่น อำนาจเจริญ เฉลี่ย 14,100 บาท/ตัน (+ 400 บาท/ตัน) นครพนม 13,250 บาท/ตัน (+100 บาท/ตัน) อุดรธานี 13,900 บาท/ตัน (+ 450 บาท/ตัน) ขอนแก่น 15,050 บาท/ตัน (+ 50 บาท/ตัน)

โดยที่ผ่านมาภาคอีสานบางพื้นที่มีฝนตกชุกและชาวนาเร่งเกี่ยวทำให้ข้าวเปลือกมีความชื้นสูงมาก ราคาที่ได้จะลดลงตามคุณภาพ ซึ่งนายพิชัยฯ ได้สั่งการให้ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และกรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์ราคาข้าวอย่างใกล้ชิด และติดตาม ตรวจการรับซื้อข้าวเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ป้องกันมิให้เอารัดเอาเปรียบชาวนา หรือฉวยโอกาสกดราคารับซื้อ

นอกจากนี้ กรมการค้าภายใน ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดแหล่งเพาะปลูกข้าว จัดตลาดนัดข้าวเปลือก ปีการผลิต 2567/68 ใน 33 จังหวัด รวมกว่า 50 ครั้ง เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงผลผลิตของเกษตรกรกับโรงสีในพื้นที่และนอกพื้นที่ ช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกและอำนาจต่อรองในการขายข้าวเปลือกมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้การซื้อขายข้าวเปลือกเกิดความเป็นธรรมด้านราคา การชั่งน้ำหนัก และการตรวจสอบคุณภาพ

โดยกำหนดจัดตลาดนัดแล้วในหลายจังหวัด และที่กำลังจะจัดในสัปดาห์หน้า เช่น วันที่ 19-20 พ.ย.67 ณ โรงสีข้าว สกต.ร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด วันที่ 18-22 พ.ย.67 ณ ดวงใจการเกษตร สาขา 1 จ.หนองคาย วันที่ 21-23 พ.ย.67 ณ สหกรณ์การเกษตรเมืองสอง จ.แพร่ จึงขอเชิญผู้ประกอบการรับซื้อข้าวเปลือกและชาวนานำข้าวมาขาย โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และสายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569

นายวิทยากร กล่าวอีกว่า ในปีนี้ราคาส่งออกข้าวไทยทุกชนิด เฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปี (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยกรมการค้าต่างประเทศรายงานข้อมูลราคา FOB ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพบว่า ราคาส่งออกข้าวหอมมะลิ (ข้าวใหม่) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 935 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 7.59% จากปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ประมาณ 869 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ข้าวปทุมธานีมีราคาส่งออกประมาณ 875 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 24.64% จากปีก่อนที่มีราคาอยู่ที่ 702 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน

ในขณะที่ข้าวขาวมีราคาส่งออกอยู่ที่ประมาณ 603 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 11.67% ข้าวนึ่งมีราคาส่งออกประมาณ 601 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 10.89% และข้าวเหนียว มีราคาส่งออกอยู่ที่ 818 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน เพิ่มขึ้น 0.62% ซึ่งสะท้อนกลับไปเป็นราคาข้าวเปลือกสร้าง รายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสูงขึ้นเช่นกัน รวมถึงปริมาณส่งออกข้าวไทยยังมีแนวโน้มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งจากข้อมูลของกรมการค้าต่างประเทศพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี มีการส่งออกข้าวประมาณ 8.37 ล้านตัน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 และยังคงมีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลผลิตข้าวนาปีของไทย ที่กำลังออกสู่ตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพที่ดีจากปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูก

อีกทั้งยังมีผลผลิตข้าวหอมมะลิไทยที่เพาะปลูกได้ปีละครั้งออกสู่ตลาดในช่วงนี้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดสำคัญ อย่างสหรัฐอเมริกา ฮ่องกง และแคนาดา ในขณะที่ข้าวขาวมีคำสั่งซื้อจากเอกชนผู้ส่งออกข้าว ที่ชนะในการประมูลนำเข้าข้าวของอินโดนีเซีย ปริมาณ 200,500 ตัน จึงคาดการณ์ว่า ปริมาณส่งออกเข้าไทยในปีนี้จะสูงกว่า 9 ล้านตัน มูลค่ากว่า 6,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 230,000 ล้านบาท และได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศทำแผนรองรับการผลักดันการส่งออกข้าวปีหน้าด้วยแล้ว

Back to top button