จับตา! โหวตแผนฟื้นฟู “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” พรุ่งนี้ กลุ่ม “รายย่อย” โวยใช้หนี้ไม่เป็นธรรม

กลุ่มผู้เสียหาย STARK กังวลโหวตแผนฟื้นฟู “เฟ้ลปส์ ดอด์จ” หวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม เหตุจัดสรรให้เจ้าหนี้สถาบันมากกว่ารายย่อย จ่อเตรียมยื่นศาลฯล้มกระบวนการทั้งหมด


วันที่ 18 พ.ย. 67 ทนายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความผู้เสียหายหุ้นและหุ้นกู้ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กล่าวถึงกรณีในวันที่ 20 พ.ย. 67จะมีการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ STARK เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า มีความกังวลในเรื่องของแผนฟื้นฟูที่เขียนมานั้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้สถาบันที่เป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ ขณะที่เจ้าหนี้สถาบันบางรายเป็นเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันทำให้ลำดับศักดิ์และสิทธิต้องเทียบเท่ากับเจ้าหนี้หุ้นกู้รายอื่นที่ไม่มีประกันเช่นเดียวกัน แต่ดันไปกำหนดว่าให้เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่ไม่มีหลักประกันเหมือนเรา โดยสถาบันได้รับชำระมากถึง 72% แต่ให้เจ้าหนี้หุ้นกู้ได้รับชำระเพียง 10%

โดยในจำนวนนี้ยังบอกด้วยว่าหากเราได้รับชำระหนี้จาก สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) แล้ว ก็ให้เอายอดมาหักจาก 10% ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากได้รับการชำระหนี้มาจำนวน 1 ล้านบาท แล้วนำมาเทียบเป็น 2% ตรงนี้เขาก็จะเอามาเทียบกับจำนวนในแผน ก็จะทำให้เราได้เงินในแผนเพียง 8% หลักการเหล่านี้คือความไม่เป็นธรรมกับเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้เลย ซึ่งการเขียนแผนของเขาเป็นการให้ประโยชน์กับสถาบันมาก

ทนายจิณณะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตรงนี้ในมุมของเรามองกันว่าเงินที่เอาไปก็เป็นเงินของผู้เสียหายทั้งหมด แทนที่จะเอาเงินของผู้เสียหายมาจัดสรรให้กับผู้เสียหาย แต่เอาไปให้กับสถาบันการเงิน จึงมองว่าไม่แฟร์มากๆ แทนที่จะเยียวยาที่เป็นบุคคลก่อนพวกธนาคาร แต่อย่างไรก็ดีต้องบอกว่าในเรื่องของสถาบันการเงินแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ เจ้าหนี้มีประกัน ซึ่งพวกนี้โดยหลักกฎหมายจะไปตัดทอนอะไรไม่ได้ เพราะมีสิทธิเหนือบุริมสิทธิ แต่จะมีอีกส่วนก็คือเจ้าหนี้ธนาคารที่ไม่มีหลักประกัน หรือก็คือพวกปล่อยกู้ธรรมดา ตรงนี้เรียกว่าสถานะเช่นเดียวกันกับบุคคลทั่วไป จึงเห็นว่าศักดิ์และสิทธิควรจะเท่ากับคนทั่วไป ดังนั้นเราจึงอยากเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม ซึ่งเราอยากแบ่งเป็นคือเจ้าหนี้ที่ไม่มีประกันควรจะได้เท่ากัน ประเด็นเราอยู่ตรงนี้

“เงินทั้งหมดกว่า 9,000 ล้านบาทที่ได้มาแล้วไซฟ่อนเงินออกไป และที่นำมาชำระเงินให้กับธนาคารในส่วนแรก มันคือเงินของผู้เสียหายทั้งนั้น จริงๆต้องย้อนกลับมาให้ผู้เสียหายก่อนไปถึงธนาคารด้วยซ้ำ” ทนายจิณณะ กล่าว

สำหรับความสำคัญและความผิดของ เฟ้ลปส์ ดอด์จ สามารถกล่าวได้ว่าร่วมกันตกแต่งบัญชี เพราะที่ผ่านมา STARK นั้นประกอบธุรกิจแบบโฮลดิ้ง เวลามีการทำงบรวมของ STARK จะต้องมีการรวบรวมมาจากงบการเงินของบริษัทย่อย ซึ่งก็คือ เฟ้ลปส์ ดอด์จ แล้วสุดท้าย STARK ก็ไม่ได้มีรายจ่ายของตัวเองอยู่แล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้บริษัทลูกจึงมีการแต่แต่งบัญชี ซึ่งก็เท่ากับว่ามีการตกแต่งบัญชีมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้วแบบปริยาย

สำหรับการโหวตแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องบอกว่าก่อนหน้านี้เราฟ้องไม่ได้ เป็นเพราะว่า เฟ้ลปส์ ดอด์จ ได้เข้าไปอยู่ในกระบวนการเข้าแผนฟื้นฟูทำให้มีผลทางกฎหมายไม่สามารถฟ้องได้ จึงกลายเป็นเรื่องการยื่นเรื่องขอรับชำระหนี้ และเมื่อเป็นแบบนี้ก็จะมีการเกิดลูกเล่นในลักษณะนี้ที่อาจจะมีการไปร่วมมือกับสถาบัน สุดท้ายผู้เสียหายจะได้น้อยที่สุด ซึ่งเราเองก็มีโอกาสแพ้เพราะเรารวมตัวกันไม่ค่อยติดและเสียงน้อยจำนวนน้อยเพียงกว่า 1,000 ล้านเท่านั้น

อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ถูกเตรียมการเอาไว้แล้ว เชื่อว่าการโหวตพรุ่งนี้คงไม่มีปัญหา ซึ่งแนวทางที่ “กลุ่มรายย่อย” จะทำกันต่อไปก็คือการยื่นเรื่องคัดค้าน และถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงแผนก็จะไปยื่นต่อศาลล้มละลาย ในคดีฟื้นฟูกิจการ เรื่องของการกำหนดแผนฟื้นฟูที่ไม่เป็นธรรม โดยที่ศาลฯอาจจะสั่งให้แก้ไขแผน หรือ สั่งยกเลิกการฟื้นฟูไปเลย ดังนั้นก็มีโอกาสจะตั้งต้นฟ้องร้องกันใหม่ได้

 

Back to top button