เปิดเกณฑ์แก้หนี้ “ครัวเรือน” แลกแบงก์ลดเงินนำส่ง FIDF เหลือ 0.23%
"เผ่าภูมิ โรจนสกุล" เปิดเกณฑ์แก้หนี้ พักจ่ายดอกเบี้ย 3 ปี กลุ่ม NPL บ้าน-รถ-SME รวม 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน ในกลุ่มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของประชาชนที่สามารถฟื้นกลับมาเป็นหนี้ดีได้ (NPL) เฉพาะหนี้ที่เกิดก่อนวันที่ 31 ต.ค.67 รวม 2.3 ล้านบัญชี รวม 1.31 ล้านล้านบาท โดยใช้แนวทางให้ลดเงินนำส่งเข้า กองทุนและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จำนวน 0.23% จาก 0.46% เป็นระยะเวลา 3 ปี ประกอบกับมีเงินสมทบจากธนาคารและสถาบันการเงินใส่เข้าไปอีกส่วนหนึ่ง เมื่อรวมกันก็จะมีเงินจำนวนหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้
โดยหนี้ที่อยู่อาศัย จะเข้าไปช่วยในมูลหนี้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ย จำนวน 4.6 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.8 แสนล้านบาท
ส่วนหนี้รถยนต์ มูลหนี้ไม่เกิน 8 แสนบาท เป็นหนี้ NPL ไม่เกิน 1 ปี และแขวนดอกเบี้ย จำนวน 1.4 ล้านบัญชี มูลหนี้ 3.7 แสนล้านบาท
และยังช่วยเหลือลูกหนี้เอสเอ็มอี (SME) ที่ขอสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพยอดสินเชื่อไม่เกิน 3 ล้านบาท และแขวนดอกเบี้ย จำนวน 4.3 แสนบัญชี มูลหนี้ 4.54 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนผ่านธนาคารที่ลูกหนี้เป็นหนี้อยู่ในปัจจุบัน หากไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิ์ ส่วนจะแฮร์คัต (hair cut)หนี้หรือการปิดจบด้วยเงินก้อนหรือไม่นั้น อยู่ในขั้นตอนการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม
นายเผ่าภูมิ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยอมเฉือนเนื้อตนเองในเรื่อง FIDF รัฐยอมตัดเงินส่วนหนึ่งและธนาคารใส่เงินมาเพิ่มส่วนหนึ่ง ทำให้ช่วงมาตรการ 3 ปี สามารถตัดเงินต้นได้เร็วขึ้น เพราะดอกเบี้ยจะถูกแขวนไว้ ซึ่งจะช่วยเฉพาะประชาชนที่เดือดร้อนกับการประกอบอาชีพ โดยลูกหนี้ดังกล่าว มีอยู่ทั้งแบงก์รัฐและเอกชน หากตลอด 3 ปี ผ่อนต้นได้ดีจะได้รับการดูแลเรื่องดอกเบี้ยด้วย ซึ่งขั้นอยู่กับแนวทางของคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) แต่หากเป็นหนี้จากการอุปโภคบริโภคจะไม่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือ เช่น หนี้บัตรเครดิต
ทั้งนี้ รายละเอียดในภาพรวมของการแก้หนี้ครัวเรือนเป็นดุลยพินิจของกนส. ที่จะลงรายเอียดการช่วยเหลือ ซึ่งการช่วยเหลือในครั้งนี้ ภาครัฐได้ตรวจสอบแล้ว พบว่า หากไม่เข้าไปช่วยเหลือประชาชน จะทำให้ประชาชนล้มลง จึงเน้นประคับประคองให้สามารถกลับมายืนต่อไปได้ ซึ่งผู้ที่เข้าโครงการนี้จะถูกขึ้นบัญชีไว้ว่าเป็น “ลูกหนี้ที่เข้าโครงการ” ทำให้สามารถขอสินเชื่ออื่น ๆ ได้ตามปกติ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในการปล่อยสินเชื่อของธนาคาร
ส่วนกรณีธนาคารปล่อยสินเชื่อยากในขณะนี้เพราะกลัว NPL เพิ่มขึ้นนั้น นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ทางกระทรวงการคลัง มองว่าจะต้องมีกลไกเข้าไปดูแลตรงนี้ เช่น การค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งกำลังถูกพัฒนาเป็นสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ (NaCGA)