“ก.ล.ต.” สั่งพักไลเซ่นส์ “มาร์เก็ตติ้ง” สังกัด KTX ชั่วคราว! ปมไม่บันทึกคำสั่งซื้อขายหุ้น

“ก.ล.ต.” สั่งพักไลเซ่นส์มาร์เก็ตติ้งสังกัด “กรุงไทย เอ็กซ์สปริง” กรณีไม่บันทึกคำสั่งซื้อขายหุ้นของลูกค้า ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม


สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.สั่งพักการให้ความเห็นชอบผู้แนะนำการลงทุนรายนางสาวธีรนุช รุ่งทิวากรอุทัย เป็นเวลา 3 เดือน 22 วัน กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้ลงทุน ซึ่งอาจเป็นช่องทางให้มีการส่งคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสม ขณะกระทำผิดสังกัด บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง(KTX)

โดยก.ล.ต. ตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน – วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 นางสาวธีรนุช ผู้แนะนำการลงทุนสังกัดของ บล.กรุงไทย เอ็กซ์สปริง ได้ส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้ารายหนึ่ง มากกว่า 200 คำสั่ง โดยไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ได้เคยพบพฤติกรรมดังกล่าวของนางสาวธีรนุช ในการส่งคำสั่งซื้อขายหลายหลักทรัพย์ และได้ตักเตือนหรือลงโทษมาก่อนแล้ว แต่ยังพบพฤติกรรมอีก

การกระทำของนางสาวธีรนุชดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคลากรในตลาดทุนตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 1 เป็นเวลา 3 เดือน 22 วัน นับตั้งแต่ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567

สำหรับการพิจารณาการมีลักษณะต้องห้าม และการกำหนดระยะเวลาการพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบบุคลากรในตลาดทุน ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบ ความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์มีหน้าที่บันทึกที่มาของการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ และติดตามดูแลให้ผู้แนะนำการลงทุนปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าว เพื่อเป็นหลักฐานการดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของลูกค้า และสามารถแสดงถึงพฤติกรรมในการส่งคำสั่งของลูกค้า รวมทั้งการทำหน้าที่ของผู้แนะนำการลงทุนด้วย ซึ่งการไม่บันทึกที่มาของคำสั่งซื้อขายจึงอาจเป็นช่องทางในการปกปิดการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เหมาะสม และ ก.ล.ต. มีการติดตามให้บริษัทหลักทรัพย์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

Back to top button