ตีตั๋วยาว “ทักษิณ – พรรคเพื่อไทย” ศาลรธน. ตีตก 6 เรื่องร้อนทางการเมือง
ตีตั๋วยาว “ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย” ศาลรัฐธรรมนูญ ตีตก 6 เรื่องร้อนทางการเมือง ไฟเขียวบริหารรัฐบาลยาว สร้างกระแสความนิยมแข่งกับกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม
ถือเป็นคดีการเมืองที่มีผลต่อภาพรวมของไทย ทั้งบริบททางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ หลังนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ นำเอกสารทั้งคำร้องและพยานหลักฐาน 5,080 แผ่น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้วินิจฉัยสั่งการให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพอันจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 นั้น
ก่อนที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะมีความเห็นทางใดทางหนึ่งเกี่ยวกับคดีดังกล่าวก็มีความเห็นไปต่าง ๆ นานาว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจรับคำร้องไว้พิจารณาทั้งหมด หรือแค่บางส่วน เพราะเรื่องที่นายธีรยุทธ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญมีถึง 6 ประเด็น ไล่เรียงมาตั้งแต่นายทักษิณ เดินทางกลับมารับโทษ จนมาถึงการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของของพรรคเพื่อไทย
โดยการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มี 6 เหตุการณ์สำคัญที่ต้องวินิจฉัยว่า การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง มี 6 พฤติการณ์ที่ต้องพิจารณา ประกอบด้วย
1.นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทย เป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
2.นายทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฯ ฮุน เซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอธิปไตยของประเทศไทย
3.นายทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ
4.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง
5.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทย มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง
6.นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 กันยายน 2567
โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง น่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ดังนั้นกรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6
แต่ทังนี้ยังมีประเด็นที่ 2 ที่ดูเหมือนเสียงของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่เอกฉันท์ และต้องใช้ “เสียงข้างมาก” ด้วยมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
โดย “7 เสียงข้างมาก” ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ นายอุดมรัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ
ขณะที่ “2 เสียงข้างน้อย” ได้แก่ นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายนภดล เทพพิทักษ์
สำหรับ “ประเด็นที่ 2” ในคำร้องของนายธีรยุทธ ระบุว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชา ให้มีการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
เรื่องนี้ตุลาการเสียงข้างมาก เห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง จนน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ขณะที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผล เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้
ด้าน รศ.ธนพร ศรียากูล นักวิเคราะห์การเมือง ให้สัมภาษณ์กับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” โดยสรุปกล่าวว่า ไม่มีผลอะไรแล้ว แม้มติจะออกมา 9:0 หรือ 7:2 และเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นใบเบิกทางให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยบริหารประเทศได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะสิ่งที่นายธีรยุทธร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นประเด็นร้อนแทบทั้งสิ้นที่จะมีต่ออนาคตทางการเมืองต่อนายทักษิณ และพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะ MOU 44 ระบุให้ดำเนินการทั้งในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล และการพัฒนาพื้นที่ร่วมไปพร้อมกัน
ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เตรียมตั้ง คณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ชุดใหม่ขึ้นมาเจรจากับฝ่ายกัมพูชา
ดังนั้นจากนี้เชื่อว่าคงได้เห็นความชัดเจนของ คณะกรรมการ JTC และต้องติดตามกันต่อไปว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร