สภากทม. ไฟเขียวจ่ายหนี้ BTS “สายสีเขียว” ก้อนแรก 1.4 หมื่นล้านบาท
สภากทม. ผ่านร่างงบปี 68 มีมติอนุมัติจ่ายค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง BTS “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ก้อนแรกวงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เตรียมตั้งคณะดำเนินการภายใน 45 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (22 พ.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 67 โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม นายวิศณุ ทรัพย์สมพล นายศานนท์ หวังสร้างบุญ และ นางสาวทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหาร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เข้าร่วม
ทั้งนี้ นายชัชชาติ ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี พ.ศ. 68 พ.ศ. … โดย กทม.เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 68 พ.ศ. … จำนวน 14,549,503,800 บาท จากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร สำหรับการเสนอร่างดังกล่าว เนื่องจาก กทม.มีความประสงค์ชำระหนี้ให้กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ในส่วนค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด
ขณะที่สถานะการเงินการคลังของ กทม. ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 กทม.มีเงินฝากธนาคารเป็นเงิน 96,010.04 ล้านบาท แบ่งเป็น รายรับหักรายจ่ายสุทธิ 4,326.23 บาท เงินนอกงบประมาณที่มีภาระผูกพัน 1,602.12 ล้านบาท ขณะที่เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่เบิก 1,696.22 ล้านบาท เงินสะสมกรุงเทพมหานครคงเหลือ 64,019.05 ล้านบาท ทุนสำรองเงินคงคลังกรุงเทพมหานคร 9,366.42 ล้านบาท
สำหรับภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.67 มีรายละเอียดคือวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท มี 5 หน่วยงาน 32 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาจำนวนคงเหลือ 61,659.69 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500-1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน 29 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 11,516.85 ล้านบาท ด้านโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 21 หน่วย 117 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 7,348.13 ล้านบาท
ทั้งนี้ สถานะเงินสะสมประจำปีงบประมาณ 68 ณ วันที่ 1 พ.ย.67 จำนวน 81,436.90 ล้านบาท แบ่งเป็น เป็นเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 17,198.31 ล้านบาท ภาระผูกพันและการสำรองเงินที่ทำให้ยอดสะสมเงินลดลง จำนวน 3,399.63 ล้านบาท
สำหรับเงินสำรองสะสมกรุงเทพมหานคร ตามกฎหมาย จำนวน 6,500 ล้านบาท กันไว้สำหรับจ่ายกรณีสาธารณภัย 5,433.89 ล้านบาท คาดการณ์การใช้จ่ายในปี 2568 กรณีจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ 10,600 ล้านบาท เงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน 38,305.07 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามจึงอาศัยความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 พ.ศ. … จำนวน 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องสำคัญคือการยื่นเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่อีกครั้ง ศาลปกครองสูงสุดได้แจ้งว่า เรื่องการชี้มูลจาก ป.ป.ช.ได้พิจารณาอยู่ในหลักฐานการพิจารณาคดีเรียบร้อยแล้ว
” กทม.จึงไม่มีเหตุผลที่จะยื่นให้ศาลพิจารณาใหม่อีกครั้ง ส่วนเรื่องเอกสารชี้มูลจาก ป.ป.ช.ได้แจ้งขอเปิดเผยขอข้อมูลจาก ป.ป.ช.แล้ว แต่ ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้เปิดเผย” นายชัชชาติ กล่าว
ขณะเดียวกันการชี้แจงจากศาลปกครองสูงสุด ทำให้ กทม.มีความสบายใจที่จะชำระหนี้อย่างถูกต้อง ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เพราะได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องแล้ว โดยกทม.ไม่ได้กังวลเรื่องดอกเบี้ย แต่ให้ความสำคัญกับการดำเนินการอย่างถูกต้องมากกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง
สำหรับที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบร่างญัตติดังกล่าว จำนวน 37 คน พร้อมตั้งคณะกรรมการวิสามัญร่างข้อบัญญัติ กรุงเทพมหานคร เรื่องงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปี พ.ศ.68 พ.ศ. … จำนวน 24 คน โดยใช้เวลาพิจารณา 45 วัน และกำหนดแปรญัตติ 10 วัน
นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า นอกจากส่วนดังกล่าวแล้ว ยังมีส่วนอื่นอีกรวมประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ที่ กทม.ต้องชำระ รวมดอกเบี้ยกว่าวันละ 7 ล้านบาททั้งนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สภา กทม.ควรเห็นชอบในการอนุมัติวงเงินเพื่อให้ กทม.นำไปชำระหนี้ เพราะผู้ว่าฯกทม.ไม่มีอำนาจนำเงินไปใช้
หากเรื่องนี้ยังดำเนินการช้า กทม.จะยิ่งเสียดอกเบี้ยมากขึ้น แต่หากเร่งชำระหนี้จำนวนดังกล่าวในวันนี้ จะช่วยประหยัดเงินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปใช้อย่างอื่นได้