“ดีอี” อัพเดตโครงการ “โคราช มหานครดิจิทัลฯ” พบปชช. เข้าร่วมทะลุ 2 พันคน
ประเสริฐ รมว.กระทรวงดีอี อัพเดตโครงการ “โคราช มหานครดิจิทัลฯ” ชูโมเดล “ปากช่อง สมาร์ทซิตี้” ยกระดับงานบริการ e-Document แห่งแรก ขณะที่ประชาชน 2,000 คน และหน่วยงานรัฐในจังหวัด 343 หน่วยงาน สนใจเข้าร่วมการพัฒนา
ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (23 พ.ย.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการติดตามความคืบหน้าโครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นางสาวกัลยา ชินาธิวร ที่ปรึกษาด้านการต่างประเทศกระทรวงดีอี นายพรรณธนู วรรณกางซ้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี นายอัฐฐเสฏฐ จุลเสฏฐพานิช เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวง ดีอี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ จังหวัดนครราชสีมา
นายประเสริฐ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 67 ที่ผ่านมา ในวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดนครราชสีมา กระทรวง ดีอี ได้จัดโครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ระบบการทำงานแบบไร้กระดาษ (Paperless) ให้ประชาชนและหน่วยงานราชการภายในท้องถิ่น
ขณะที่ มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 2,000 คน พร้อมการลงนาม MOU ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ในการขับเคลื่อนโครงการ โดยพบว่า หน่วยงานภายในจังหวัด มีความต้องการใช้ระบบจำนวน 343 หน่วยงาน มีจำนวนผู้ใช้งาน 15,219 บัญชี (users) และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,775 CA (Certification Authority)
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน กระทรวงดีอี ได้เร่งรัดโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้กระดาษในหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ โดยมอบหมายให้สถิติจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดดำเนินการ ส่งเสริมการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) (โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน) ให้กับส่วนราชการต่าง ๆ ทุกกระทรวง และทุกจังหวัด เพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน ช่วยลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของแต่ละหน่วยงาน
ในโอกาสนี้ กระทรวงดีอี ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินโครงการ “Digital Korat: The Future Starts now – โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” ซึ่งถือเป็นต้นแบบ ก่อนขยายโครงการในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเยี่ยมชมโครงการการยกระดับชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ณ วิสาหกิจชุมชน @ View Share Farm ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้งานดิจิทัลให้กับกลุ่มผู้พิการที่ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน ของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)
สำหรับเทศบาลเมืองปากช่อง เป็นอีกหนึ่งในหน่วยงานของจังหวัดนครราชสีมา ที่นำระบบ e-Document มาใช้ในหน่วยงานรัฐ เพื่อลดการใช้เอกสารกระดาษ ปรับปรุงประสิทธิภาพและความโปร่งใสกระบวนการทำงาน รวมทั้งยกระดับการให้บริการแก่ประชาชน ให้ได้รับความสะดวก รวดเร็ว เช่น การออกเอกสารสำคัญ การจัดเก็บข้อมูลทะเบียน และการประสานงานระหว่างหน่วยงาน ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถลดภาระงานเอกสารที่ซ้ำซ้อน ลดค่าใช้จ่ายด้านการดำเนินงาน รวมทั้งมีความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และข้อมูลของภาครัฐ
ในส่วนของ วิสาหกิจชุมชน @ View Share Farm ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) ในปี 2564 นั้น เป็นวิสาหกิจชุมชนที่บริหารจัดการโดยกลุ่มผู้พิการที่ประกอบอาชีพเกษตรแบบผสมผสาน
โดยได้มีการนำเทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะ พร้อมระบบ Smart Farm และตู้ควบคุมระบบน้ำเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยบริหารจัดการการให้น้ำ และปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้สำหรับปลูกเมล่อน สายพันธุ์ Golden Pink และพืชผักสวนครัวบนพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพของผลผลิตแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนและแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถลดการสูญเสียผลผลิตได้มากถึง 70% พร้อมกับการนำเครื่องตั้งเวลาอัตโนมัติมาใช้ และติดตั้งโซล่ารูฟท็อป ผลิตกระแสไฟฟ้าในวิสาหกิจชุมชนบางส่วน ขณะเดียวกันดีป้า ยังได้เตรียมส่งเสริมการใช้แพลตฟอร์มการจัดการระบบบริหารจัดการโฮมสเตย์ ประกอบด้วยระบบการจอง ระบบการรับเงิน ให้กับทางวิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับกลุ่มวิสาหกิจ @ View Share Farm เพื่อการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้นของผู้พิการ และกลุ่มเปราะบาง แต่ยังคงติดขัดปัญหาเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ เรื่องของสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณโทรคมนาคม รวมทั้งระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งกระทรวงดีอี จะดำเนินการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป
“กระทรวงดีอี พร้อมขับเคลื่อนการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้กระดาษในหน่วยงานรัฐระดับภูมิภาค ทั้งการใช้งานระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) การขับเคลื่อนการใช้งานระบบ e-Office ภายใต้งานบริการคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) (โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้งาน) การวางโคงสร้างและยกระดับให้จังหวัดต่างๆ ที่มีศักยภาพ และความพร้อม ด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลอย่างทั่วถึง สร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างองค์ความรู้ พัฒนาทุนมนุษย์ให้กับประชาชน และบุคลากรหน่วยงานรัฐ ต่อยอดไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงปลอดภัย ความเชื่อมั่นของประชาชนในการใช้เทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืน” รองนายกฯ ประเสริฐ