แนะสอย “กลุ่มแบงก์-ไฟแนนซ์” หลังรัฐจ่อชงลด “หนี้สินเชื่อบุคคล-บัตรเครดิต” เกือบล้านราย
โบรกมองรัฐบาลจะมีการ “แฮร์คัต” หนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเคตดิตให้กับลูกหนี้เกือบ 1 ล้านราย จ่ายขั้นต่ำ 5-10% วงเงินไม่เกิน 10,0000 บาท จ่อชงครม. 11 ธ.ค.67 มีมุมมองบวกต่อกลุ่มแบงก์และไฟแนนซ์ได้รับประโยชน์เป็นสถาบันการเงินมากสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนล่าสุด รัฐบาลจะมีการ “แฮร์คัต” หนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตให้กับลูกหนี้ที่มีวงเงินหนี้ไม่เกิน 5,000-10,000 บาท รวมๆ แล้วอีกเกือบ 1 ล้านราย
นอกเหนือจากเดิมที่จะมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้สินเชื่อบ้านและรถที่รัฐบาลและธนาคารพาณิชย์จะช่วยจ่ายดอกเบี้ยแทนลูกหนี้ในช่วง 3 ปีแรก พร้อมกับลดการจ่ายค่างวดให้ภาระเบาลง ครอบคลุมลูกหนี้ราว 2.3 ล้านบัญชี มูลหนี้ 1.31 ล้านล้านบาทแล้ว
ในส่วนที่เป็นการแฮร์คัตหนี้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด ซึ่งคาดว่าจะกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นหนี้เสียหรือมีปัญหาค้างชำระมาเกิน 1 ปี โดยมาตรการนี้จะร่วมกันทั้งแบงก์รัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ) และแบงก์พาณิชย์ โดยจะอยู่ในแพ็กเกจแก้หนี้ด้วยและจะเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 11 ธ.ค.67
แหล่งข่าวกล่าวว่า การแฮร์คัตหนี้ดังกล่าวไม่ใช่มาตรการช่วยเหลือแบบอัตโนมัติ แต่ลูกหนี้จะต้องแสดงความจำนงโดยการลงทะเบียน เพื่อให้มีการติดตามและเมื่อเข้าร่วมแล้วก็ไม่ใช่ว่า จะยกหนี้ให้ทันที แต่จะต้องดำเนินการชำระหนี้บางส่วนก่อนด้วย 5% หรือ 10% เช่น เป็นหนี้อยู่ 5,000 บาทก็ต้องชำระ 500 บาท ก็จะยกหนี้ให้ เพื่อให้ลูกหนี้หลุดพ้นปัญหา เป็นต้น
ดังนั้น ลูกหนี้กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เป็น NPL (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้) รายเก่า ๆ ที่มีการค้างชำระวงเงินไม่สูง แต่จ่ายไม่ได้และไม่ยอมติดต่อแบงก์ ทำให้มีประวัติค้างติดอยู่ในเครดิตบูโรมาเป็นเวลานาน มาตรการจะเป็นการดึงลูกหนี้ให้กลับมาติดต่อแบงก์ ซึ่งต้องเข้ามาติดต่อ มาชำระหนี้บางส่วน ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะไปล้างให้อัตโนมัติเลย เพราะอย่างนั้นจะทำให้เกิดวัฒนธรรมจงใจเบี้ยวหนี้ขึ้นอีก
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่าประเด็นรัฐบาลแก้หนี้แพ็กเกจใหญ่ครอบคลุมกว่า 3 ล้านราย พร้อมเสนอเข้า ครม. ในวันที่ 11 ธ.ค.67 เผยมาตรการเพิ่มเติมล่าสุด “แฮร์คัต” เงินกู้ส่วนบุคคล-บัตรเครดิต เป็นหนี้ไม่เกิน 5,000-10,000 บาท หนี้เสียค้างเกิน 1 ปี ทิ้งผ่อนนาน-ไม่มีแรงชำระ-ประวัติค้างในเครดิตบูโรดึงกลับมาชำระ 5-10% ประเมินแล้วจะครอบคลุมลูกหนี้อีกเกือบ 1 ล้านราย
ทั้งนี้ ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมอง slightly positive ต่อประเด็นข่าวการ แฮร์คัต เงินกู้ส่วนบุคคล-บัตรเครดิต สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL เกิน 1 ปี เพราะ สินเชื่อกลุ่มนี้มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญ (write – off) เร็ว ทำให้ทางฝ่ายวิจัยคาดการณ์ว่าหนี้สูญรับคืนของสถาบันการเงินจะกลับมาเร็วมากขึ้น
โดยมองว่าคนที่จะได้รับประโยชน์เป็นสถาบันการเงินที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตมากสุดเรียงลำดับมากไปน้อยดังนี้
กลุ่มแบงก์ คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB (26%) > ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB (6%)> บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB (5%) > ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKP(4%)
กลุ่มไฟแนนซ์ คือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC (98%) > บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) หรือ AEONTS (92%) > บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC(10%) > บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD (5%)