ผู้ถือหุ้นรายย่อย TOP บุกร้อง DSI สอบ “บอร์ดบริหาร” ปมเลือก UJV ทำโครงการ CFP เสียหาย

หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายย่อย บมจ.ไทยออยล์ บุกร้องอธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบบอร์ดบริหาร TOP คัดเลือกกลุ่มกิจการร่วมค้า UJV ทำโครงการพลังงานสะอาด CFP แต่ค้างจ่ายค่าแรงผู้รับเหมาช่วง หวั่นสร้างความเสียหายหลักแสนล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 พ.ย.67) นายชัชนัย ปานเพชร ในฐานะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเป็นผู้ถือหุ้น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เดินทางมายื่นหนังสือถึง พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยมี พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้รับหนังสือแทน เพื่อร้องทุกข์ กล่าวโทษ ดำเนินการสืบสวน สอบสวน คณะกรรมการ ผู้บริหาร บมจ.ไทยออยล์ และ กลุ่มบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องจากกรณีโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project หรือ CFP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

โดย นายชัชนัย เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า อยากให้ดีเอสไอตรวจสอบว่า บอร์ดบริหารดำเนินการโดยชอบหรือไม่ ในเรื่องการคัดเลือกผู้รับเหมาหลัก (Main Contractor) โครงการพลังงานสะอาด CFP คือกิจการร่วมค้า UJV ซึ่งเป็นบริษัทจากต่างประเทศทั้ง 3 บริษัท และไม่มีสำนักงานในประเทศไทย คุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ ขณะที่ผู้รับเหมาช่วงต่อที่เป็นบริษัทในประเทศไทยนั้น ตนเห็นว่ายังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในโครงการนี้

ส่วน กิจการร่วมค้า UJV ที่ประกอบด้วย Samsung E&A (Thailand) Co.,Ltd., Petrofac South East Asia Pte.Ltd และ Saipem Singapore Pte.,Ltd. นั้น ข้องใจบริษัทใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายชัชนัย กล่าวว่า มี 2 บริษัท ส่วนอีกบริษัทหนึ่งเห็นว่ายังบริหารจัดการได้ดี แต่ถ้าแบกรับภาระต่อไปอาจจะกระทบหรือมีปัญหาในอนาคตได้

“เราเลือกลงทุนเพราะบริษัทมีความน่าเชื่อถือและโครงการนี้สามารถทำกำไรได้มาก เหมาะแก่การลงทุนในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว แต่เมื่อโครงการนี้ประสบปัญหา ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จและส่งมอบงานได้ทัน ทั้งผู้รับเหมาช่วงกับผู้รับเหมาหลัก มันก็จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งไม่ทราบข่าวเลย ก็ถ้ามีอะไรที่ชัดเจนมากขึ้น ก็จะเป็นการประกอบการตัดสินใจของนักลงทุน” นายชัชนัย กล่าว

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน โฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า จากการซักถามเบื้องต้นเป็นกรณีที่ทางผู้ร้องเห็นว่า บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการดำเนินกิจกรรมที่สงสัยเข้าข่ายเป็นความผิด จึงมาขอให้ทางดีเอสไอตรวจสอบ ซึ่งดีเอสไอมีหน้าที่ดูแลเรื่อง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ วันนี้กองบริหารคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้แล้วก็จะประมวลเรื่องเสนออธิบดีดีเอสไอต่อไป โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในชั้นต้นต้องตรวจสอบก่อนว่า กรณีเหตุสงสัยนี้เป็นคดีอาญาหรือไม่ และเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอหรือไม่ เป็นเรื่องที่จะต้องรีบพิจารณา

ทั้งนี้ในหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษฯ ตอนหนึ่งระบุว่า “การอนุมัติให้ดำเนินการโครงการดังกล่าวถือว่า เป็นการที่บอร์ดบริหารหรือคณะกรรมการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ขาดความระมัดระวัง และไม่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อยที่มีมากกว่า 39,000 ราย จนทำให้บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นรายย่อยอาจได้รับความเสียหายมหาศาล ซึ่งจะเป็นความเสียหายวงกว้างกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัท อันอาจเป็นเหตุสำคัญถึงบริษัทล้มละลายได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากยอดหนี้กู้ยืมสถาบันการเงินมากกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีผลต่อความน่าเชื่อถือต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย การกระทำดังกล่าวเป็นการเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 89/7, มาตรา 89/10, มาตรา 281/2, มาตรา 307, มาตรา 311 และมาตรา 313”

Back to top button