เศรษฐกิจไทย ต.ค.67 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคขยายตัวทุกภูมิภาค รับอานิสงส์แจกเงินหมื่น

สศค. เผยเศรษฐกิจภูมิภาค ต.ค.67 ท่องเที่ยว-บริโภคภาคเอกชนเติบโต ขณะความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้นทุกภูมิภาค เว้นลงทุนธุรกิจยานยนต์ชะลอตัว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (28 พ.ย.67) นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือน ต.ค.67 ว่า เศรษฐกิจภูมิภาคมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่องและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นทุกภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว

โดยเศรษฐกิจภาคใต้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน รายได้เกษตรกรที่ขยายตัว และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 16.7, 15.3 และ 28.3 ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ หดตัวที่ร้อยละ -30.9 ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 54.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.1 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -14.8 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -36.9 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 97.4 ต่อปี

โดยเป็นการลงทุนในโรงงานทำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปจากเนื้อสัตว์หรือมันสัตว์ใน จ.สงขลา เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 81.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 81.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 19.2 และ 21.1 ต่อปี ตามลำดับ

สำหรับ เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 และ12.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -30.8 และ -8.1 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 1.6 และ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.0 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -21.7 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -16.7 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานศูนย์บริการซ่อมแซมรถยนต์ เครื่องยนต์ และเคาะพ่นสีรถยนต์ในจังหวัดอุดรธานี เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 72.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 69.8 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 12.5 และ 10.8 ต่อปี ตามลำดับ

ขณะที่ เศรษฐกิจภาคกลาง มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ขยายตัวที่ร้อยละ 15.2 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -3.3 และ -4.6 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 23.2 และ 7.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -33.8 ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -25.3 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -29.9 ต่อปี ทั้งนี้ เงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวสูง โดยเป็นการลงทุนในโรงงานห้องเย็นแช่แข็งหรือแช่เย็นสินค้าในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 89.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 และ 4.5 ต่อปี ตามลำดับ

ด้าน เศรษฐกิจ กทม.และปริมณฑล มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 ต่อปี ขณะที่จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -3.7 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 13.7 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -24.9 ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.6 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -22.8 และ -22.8 ต่อปี ตามลำดับ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 89.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 และ 4.0 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคเหนือ มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 และ 12.6 ต่อปี ตามลำดับ ขณะที่จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -24.4 และ -3.9 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 และ 8.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 56.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 55.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -24.4 และ -33.4 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 7.3 และ 0.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 86.4 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.9 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันออก มีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และเงินทุนของโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัว อีกทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ จำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และรายได้เกษตรกรหดตัวที่ร้อยละ -13.8 -6.3 และ -8.5 ต่อปี ตามลำดับ แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 14.6 และ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -39.1 ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 58.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 57.8 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่ และจำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -26.7 และ -5.1 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 และ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ ทั้งนี้ เงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการขยายตัวที่ร้อยละ 318.8 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำเชื่อมในจังหวัดสระแก้ว เป็นสำคัญ ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 95.2 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 92.7 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากจำนวนผู้เยี่ยมเยือน และรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 30.2 และ 37.4 ต่อปี ตามลำดับ

เศรษฐกิจภาคตะวันตก การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวอย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากรายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 16.8 ต่อปี ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และจำนวนรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -5.8 และ -10.9 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 9.6 และ 13.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม จำนวนรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -22.5 ต่อปี

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 54.3 เครื่องชี้ด้านการลงทุนภาคเอกชน สะท้อนจากจำนวนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่หดตัวที่ร้อยละ -38.3 ต่อปี แต่ขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล อย่างไรก็ตาม จำนวนรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ และเงินทุนโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการหดตัว ด้านอุปทาน เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 93.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 89.3 เครื่องชี้ด้านการบริการ สะท้อนจากรายได้จากผู้เยี่ยมเยือนขยายตัวที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี

นอกจากนี้ ผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย ประจำเดือน ต.ค.67 ซึ่งสำรวจจากสำนักงานคลังจังหวัดและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าทุกภูมิภาค ตามการขยายตัวของภาคบริการและอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ สอดคล้องกับกำลังซื้อสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคประชาชนซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค ตามการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการเช่นกันโดยเฉพาะ กทม. และปริมณฑล โดยส่วนหนึ่งได้รับอานิสงค์จากการดำเนินมาตรการภาครัฐ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค ใน 6 เดือนข้างหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ความผันผวนของค่าเงินและต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง

Back to top button