TOP ยันเร่งหาทางออก แก้ปัญหาโครงการ CFP เตรียมชงบอร์ดบริหาร-ผู้ถือหุ้น ต้นปีหน้า
ผู้บริหารไทยออยล์ แจงปัญหาโครงการ CFP ล่าช้า เตรียมสรุปทางออกเสนอ บอร์ดบริหาร-ผู้ถือหุ้น ต้นปีหน้า
นายบัณทิต ธรรมประจำจิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ในขณะนี้บริษัทเร่งเจรจาปัญหา โครงการพลังงานสะอาด CFP กับผู้รับเหมาหลัก The Consortium of PSS Netherlands B.V. (Offshore Contractor) และ Unincorporated Joint Venture of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (เดิมชื่อ Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (Onshore Contractor) (เรียกรวมกันว่า “UJV – Samsung, Petrofac และ Saipem”) เพื่อให้ดำเนินการตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ โดยบริษัทขอยืนยันทุกแนวทางที่เจรจาจะมีการใช้สิทธิตามสัญญาที่มีอยู่ และรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้น ขอให้มั่นใจว่ามีแผนงานที่ชัดเจน คาดว่าจะสรุปและเปิดเผยได้ในต้นปี 2568 และจะมีการเสนอคณะกรรมการบริษัทให้เห็นชอบ หลังจากนั้นจะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อความโปร่งใส ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องทุกประการ
อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ทำให้โครงการ CFP จะต้องล่าช้าจากแผนงานเดิมจะเสร็จสิ้นทั้งหมด ภายในปี 2568 โดยทางออกจะมีความชัดเจนว่าโครงการจะกำหนดเสร็จสิ้นเมื่อใด ซึ่งอาจจะต้องเม็ดเงินลงทุนเพิ่ม จากที่เม็ดเงินโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 5,375 ล้านเหรียญ ทั้งนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างดำเนินการบริหารจัดการโครงการอย่างดีที่สุด ทางด้านการเจรจาสัญญา การควบคุมต้นทุน และบริหารความเสี่ยง
“ในแง่ความล่าช้า จากที่ CFP ไม่ได้เปิดตามกำหนดในปี 2568 อาจจะไม่ได้กระทบในแง่ผลดำเนินการของบริษัทมากนัก เพราะหากดูภาพรวมของธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีในปีหน้า แม้ค่าการกลั่นจะดีขึ้นกว่าปีนี้บ้าง แต่ก็คาดว่าจะมีผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่สดใส และยังมีปัญหาสงครามการค้า หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีหน้าด้วย” นายบัณฑิต กล่าว
นายบัณฑิต กล่าวว่า โครงการ CFP ในขณะนี้มีความก้าวหน้าประมาณ 90% โดยการก่อสร้างยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ได้มีการหยุดก่อสร้างแต่อย่างใด ซึ่งจากปัญหาระหว่างผู้รับเหมาหลักกับผู้รับเหมาช่วง ได้ส่งผลทำให้มีการก่อสร้างลดน้อยลงจากแผนงานที่กำหนด ซึ่งบริษัทมีความเห็นใจผู้รับเหมาช่วง และพยายามเจรจาทั้งผู้รับเหมาหลักและบริษัทแม่ให้จ่ายเงินคงค้างให้ผู้รับเหมาช่วงโดยเร็ว
ส่วนนโยบายของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบมจ.ไทยออยล์ มีแผนจะเจรจากับพันธมิตร เพื่อเข้ามาร่วมทุนในธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีเพื่อความเข็มแข็งของกลุ่ม ปตท. นั้น นายบัณฑิต กล่าวว่า หากมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนในโรงกลั่นไทยออยล์ ก็จะเป็นการดำเนินการโดยบริษัทแม่ ซึ่งหากเข้ามาในช่วงที่กำลังก่อสร้าง CFP ก็จะทำให้เม็ดเงินการร่วมทุนของพันธมิตรจะจ่ายในวงเงินที่ต่ำกว่าช่วงที่โครงการ CFP แล้วเสร็จ เพราะโครงการ CFP เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในด้านการกลั่นน้ำมันของบริษัท และสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงงานของประเทศ ซึ่งจะให้ค่าการกลั่นและผลตอบแทนโดยรวมดีขึ้น เพราะมีหน่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และจะส่งผลทำให้กำลังกลั่นเพิ่มจาก 2.7 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยจะมีการกลั่นดีเซลและน้ำมันเครื่องบิน (เจ๊ท) เพิ่มขึ้น โดยยอมรับว่าในขณะนี้มีผู้สนใจที่จะเข้ามาเป็นพันธมิตรอยู่บ้างแล้ว
นายบัณฑิต ยืนยันสัญญาก่อสร้าง หรือ สัญญา EPC ระหว่าง ไทยออยล์ กับผู้รับเหมาหลักได้มีการพิจารณาอย่างรัดกุม ระบุหลักการสำคัญหลายประการในสัญญา เช่น การกำหนดขั้นตอนในการทดสอบและการส่งมอบโครงการ การรับประกันคุณภาพ, เงื่อนไขความรับผิดชอบ และสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเป็นต้น หากเกิดกรณีผิดสัญญาหรือเลิกสัญญา บริษัทสามารถที่จะเรียกร้องความเสียหายที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาโดยที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าโครงการนี้เกิดขึ้นและมีปัญหาช่วงโควิด-19 ไทยออยล์และผู้รับเหมาหลัก ได้ร่วมมือแก้ปัญหาและแก้ไขสัญญา EPC โดยไทยออยล์ให้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 550 ล้านเหรียญสหรัฐไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 จึงทำให้โครงการนี้วงเงินลงทุนเพิ่มเป็น 5,375 ล้านเหรียญ
แหล่งข่าวจากผู้รับเหมาช่วง ระบุว่า ในกรณีที่ผู้รับเหมาช่วงได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้รับเหมาหลักเร่งจ่ายเงินที่คงค้างรวมมากว่า 4,000 ล้านบาทนั้น ในขณะนี้ UJV เริ่มทยอยจ่ายหนี้คงค้างบางส่วนบ้างแล้ว แต่เนื่องจากหนี้คงค้างมีปริมาณสูงและผู้รับเหมาช่วงขาดสภาพคล่อง จึงไม่สามารถที่จะจ้างแรงงานเพื่อก่อสร้างโครงการได้ตามเดิม ที่มีการจัดจ้างกว่าหมื่นคน โดยขณะนี้ลดเหลือไม่กี่พันคน และส่งผลให้โครงการนี้ต้องล่าช้า โดยผู้รับเหมาช่วง อยากเห็นรัฐบาลช่วยเจรจาให้ผู้รับเหมาหลักมาจ่ายเงินให้ครบตามสัญญาโดยเร็ว เพราะทั้งผู้ประกอบการและแรงงานเดือดร้อนอย่างหนัก