“ก.ยุติธรรม” จัดเวทีเสวนา ปมทุจริต STARK เล็งหามาตรการป้องกัน

กระทรวงยุติธรรม จัดงานเสวนา แผนประทุษกรรม STARK มุ่งกำหนดนโยบาย และมาตรการป้องกันการทุจริตบริษัทในตลาดทุน ลดผลกระทบต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ธ.ค.67) พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรม กรณีบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง “แผนประทุษกรรมกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK

โดย พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า กรณีดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากการกระทำความผิดในตลาดทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายเหตุการณ์ในประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและสังคมโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีพฤติการณ์การตกแต่งบัญชีและใช้งบการเงินอันเป็นเท็จในลักษณะที่มุ่งหวังหลอกลวงนักลงทุนผ่านการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนและเสนอขายหุ้นกู้ โดยการกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียหายรวมกว่า 4,700 ราย และมีมูลค่าความเสียหายสูงกว่า 14,000 ล้านบาท

เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามาตรการป้องกันในเชิงรุกที่ครอบคลุมและทันเหตุการณ์ยิ่งขึ้น รวมถึงเพื่อพัฒนามาตรการเยียวยาผู้เสียหายให้เหมาะสมกับบริบทและรูปแบบสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเดือน ก.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรม กรณี บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) โดยมี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นประธานคณะทำงาน มีผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต., สำนักงานอัยการสูงสุด, กรมบังคับคดี, สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์, ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านต่าง ๆ ทั้งทางด้านกฎหมายและด้านตลาดทุน รวมถึงตัวแทนผู้เสียหายจากการลงทุนหุ้นสามัญเป็นคณะทำงาน และมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน

โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1. เพื่อเป็นกรณีศึกษา โดยมีกรณีศึกษาของบริษัท สตาร์คฯ เป็นศูนย์กลางของการถอดบทเรียน 2. เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานเพื่อป้องกันและปราบปรามคดีที่มีผลกระทบอย่างรุนแรง ต่อประชาชน เศรษฐกิจ และสังคม และ 3. เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่มีประสิทธิภาพในการบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของตลาดทุนและตลาดเงินในการสร้างระบบการกำกับดูแลตรวจสอบและแจ้งเตือนล่วงหน้า อันจะยังผลให้ตลาดทุนและตลาดเงินมีเสถียรภาพ ความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสตรวจสอบได้ตามมาตรฐานสากล

หลังจากคณะทำงานศึกษาแผนประทุษกรรมฯได้มีการประชุมร่วมกันทั้งสิ้น 7 ครั้ง เพื่อยกร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนแผนประทุษกรรมกรณีดังกล่าว โดยได้เชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงาน ปปง. รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการตรวจสอบบัญชี มาให้ข้อคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังมีการสืบค้นข้อมูลงานวิจัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้ร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ มีข้อมูลข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนในทุกมิติ นำไปสู่การร่างเอกสารรายงานศึกษาการถอดบทเรียน ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่ 1. ข้อเท็จจริงและลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ บริษัท สตาร์คฯ เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการ Backdoor Listing จนถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 2. มาตรการป้องกันที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และที่ควรมีเพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งครอบคลุมในเรื่องของการกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน กรรมการอิสระ การจัดทำลักษณะ/พฤติการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิด (red flag) และผู้ให้เบาะแส (whistle blower) 3. มาตรการปราบปรามและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความยุติธรรมของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดความซ้ำซ้อนและระยะเวลาในภาพรวมที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวน และ 4. มาตรการเยียวยา ซึ่งรวมถึงแนวทางในการติดตามเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดเพื่อคืนให้กับผู้เสียหาย ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยเหลือบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีแนวคิดในเรื่องการจัดตั้งกองทุนต่าง ๆ

การจัดงานเสวนาในวันนี้ ได้รับเกียรติจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีเปิด นายพงศ์เทพ  เทพกาญจนา อดีตรองนายกรัฐมนตรี/ประธานคณะทำงาน นายธวัชชัย  พิทยโสภณ รองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมีเนื้อหาประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ 1. การนำเสนอข้อมูลข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษา และ 2. การรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ  โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กร สมาคม สถาบันการศึกษา กลุ่มผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องหรืออาจเข้าข่ายเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนามาตรการป้องกัน มาตรการปราบปราม และมาตรการเยียวยา กรณีการกระทำความผิดในตลาดทุน ซึ่งคณะทำงานฯ จะนำข้อคิดเห็นและข้อสังเกตต่าง ๆ ที่ได้จากงานเสวนาในครั้งนี้ ไปใช้ในการปรับปรุงร่างรายงานศึกษาการถอดบทเรียนฯ เพื่อให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นและจะเปิดเผยต่อสาธารณชนให้ทราบต่อไป

Back to top button