“ดีอี” จับมือ “Google” ช่วยบล็อก “แอปฯ อันตราย” กว่า 1 ล้านเครื่อง
กระทรวงดีอี ร่วมมือ Google ฟีเจอร์ความปลอดภัย ป้องกันหลอกติดตั้งมัลแวร์ ช่วยบล็อกแอปฯ อันตรายกว่า 1 ล้านเครื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ผลลัพธ์โครงการความร่วมมือกับ Google ในการปกป้องคนไทยจากกลโกงออนไลน์ที่หลอกให้ติดตั้งมัลแวร์ด้วยฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect ที่นำร่องการใช้งานในประเทศไทย ช่วงเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา
Google Play Protect ทำหน้าที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันตรวจจับและบล็อกแอปพลิเคชันที่อาจเป็นอันตรายก่อนที่จะติดตั้งลงในอุปกรณ์ของผู้ใช้งาน เช่น แอปฯ ที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมโทรศัพท์หรือแอปดูดเงิน ฟีเจอร์ใหม่จากโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอี กับ Google ได้ช่วยบล็อกความพยายามในการติดตั้งแอปที่มีความเสี่ยงไปแล้วกว่า 4.8 ล้านครั้งบนอุปกรณ์ Android กว่า 1 ล้านเครื่อง บล็อกแอปฯ ไปกว่า 41,000 รายการ ซึ่งรวมถึงแอปฯ ปลอมที่แอบอ้างเป็นแอปรับส่งข้อความ แอปฯ เกม และแอปฯ อีคอมเมิร์ซยอดนิยม
ฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้อุปกรณ์ Android จากกลลวงต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยการบล็อกการติดตั้งแอปฯ ที่อาจมีความเสี่ยง ซึ่งโหลดมาจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บ,เบราว์เซอร์, แอปฯ รับส่งข้อความหรือโปรแกรมจัดการไฟล์ที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน
ขณะที่ Eugene Liderman, Director of Android Security Strategy, Google กล่าวว่า แม้ว่าฟีเจอร์ป้องกันกลโกงใหม่ใน Google Play Protect จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่เราก็ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เนื่องจากมิจฉาชีพพัฒนารูปแบบการหลอกลวงใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้จำเป็นต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในเชิงรุก ซึ่ง Google มุ่งมั่นพัฒนาโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ Android ทุกคนได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีและปลอดภัย นอกจากนี้การร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่สำคัญ เช่น รัฐบาลไทยและนักพัฒนาแอปฯ ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างระบบนิเวศของโทรศัพท์มือถือที่ปลอดภัยและทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งจะช่วยเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับทุกคน
ด้าน แจ็คกี้ หวาง Country Director, Google ประเทศไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมืออย่างต่อเนื่องระหว่าง Google กับรัฐบาลไทย ในการปกป้องคนไทยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์
“ดิฉันดีใจที่ได้เห็นความคืบหน้าของความร่วมมือระหว่าง Google และกระทรวงดีอีในการต่อสู้กับกลลวงบนโลกออนไลน์ ท่ามกลางการระบาดของภัยการหลอกหลวงทางโทรศัพท์ในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อช่วยให้คนไทยพร้อมรับมือกับกลโกงรูปแบบต่าง ๆ ซึ่ง Google มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงดีอี เพื่อรับมือกับภัยไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนไทยทั่วประเทศ”
ความมุ่งมั่นในเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีคดีหลอกลวงและกลโกงทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าในปีที่ผ่านมาผู้คนจะตระหนักถึงกลโกงทางออนไลน์กันมากขึ้น แต่กลับพบว่า 7 ใน 10 ของผู้ใช้ออนไลน์ในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงทางออนไลน์ ทั้ง ๆ ที่มีความมั่นใจว่าสามารถมองกลโกงออกและหลีกเลี่ยงได้
สำหรับกลไกการทำงานของฟีเจอร์ความปลอดภัยใหม่ใน Google Play Protect นั้น หากผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปฯ ที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ตที่อาจใช้สิทธิ์เข้าถึงข้อมูลละเอียดอ่อน ซึ่งมักจะถูกนำไปใช้ในกลโกงทางการเงิน Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ และตรวจสอบสิทธิ์ของแอปแบบเรียลไทม์
โดยเฉพาะสิทธิ์ 4 รายการนี้ ได้แก่ การรับ SMS (RECEIVE_SMS), การอ่าน SMS (READ_SMS), การฟังการแจ้งเตือน (BIND_Notifications) และการช่วยเหลือพิเศษ (Accessibility) มิจฉาชีพมักจะใช้สิทธิ์เหล่านี้ เพื่อดักจับรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (One-time Password หรือ OTP) ที่ส่งมาทาง SMS หรือการแจ้งเตือน รวมทั้งแอบส่องเนื้อหาบนหน้าจอของผู้ใช้ เมื่อผู้ใช้พยายามติดตั้งแอปที่อาจมีความเสี่ยงจากแหล่งที่มาที่ไม่รู้จักบนอินเทอร์เน็ต และมีการขอใช้สิทธิ์เหล่านี้ Google Play Protect จะบล็อกการติดตั้งโดยอัตโนมัติ พร้อมแสดงคำอธิบายให้ผู้ใช้ทราบ