KKPS หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปี 68-69 เซ่นหนี้ครัวเรือนสูง
“เกียรตินาคินภัทร” ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 68-69 ลง หลังหนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของสินเชื่อติดลบ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศต่อ
บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือ KKPS ระบุในบทวิเคราะห์ว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคมมีแนวโน้มดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านอุปสงค์รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนโตขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกส่วนใหญ่ยังค่อนข้างคงที่ ด้านอุปทาน ทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาคบริการ การผลิต และการผลิตทางการเกษตร มีการฟื้นตัว
ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนเติบโต 0.8% จากเดือนก่อน (adjusted) โดยมีกำไรในทุกหมวดหมู่ ซึ่งอาจได้รับแรงหนุนจากนโยบายแจกเงินสด 10,000 บาท การบริโภคสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป (non-durable goods) เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้เชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น รวมถึงมียอดขายสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เครื่องดื่มและขนมขบเคี้ยว ที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่สินค้าคงทน (durable goods) มีการเติบโต โดยได้รับแรงหนุนจากการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีแนวโน้มที่เป็นบวก แต่อัตราการฟื้นฟูก็ช้ากว่าที่คาดการณ์เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของโครงการแจกเงินสด
ดัชนีผลผลิตภาคบริการ (Service Production Index หรือ SPI) (ไม่นับทองคำ) โตขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน (adjusted) ในเดือนตุลาคม โดยหลัก ๆ มาจากกิจกรรมการค้าและการขนส่งที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับรายรับจากนักท่องเที่ยวที่ยังคงเพิ่มขึ้น 2.8% จากเดือนก่อน (adjusted) แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาในประเทศจะยังคงที่ก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อการท่องเที่ยวเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ก็จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวระยะยาวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเรื่องการใช้จ่ายต่อหัว (นักท่องเที่ยว)
โดยกิจกรรมการผลิตเติบโตขึ้นในเดือนตุลาคม (โต 0.9% จากเดือนก่อน (adjusted)) แม้ว่าโดยภาพรวมแล้วจะยังอยู่ในแนวโน้มที่ลดลงนับตั้งแต่ปี 2565 อัตราการเติบโตดังกล่าวได้แรงผลักดันจากการผลิตในภาคส่วนเคมีภัณฑ์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, และอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งสอดคล้องกับภาคการส่งออก (ไม่นับยานยนต์) ที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม การส่งออก (ไม่นับทองคำ) ยังค่อนข้างคงที่ที่ -0.1% จากเดือนก่อน (adjusted) เนื่องจากจำนวนการส่งออกเครื่องจักร อุปกรณ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ถูกหักล้างด้วยการส่งออกยานยนต์ การเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรที่ปรับลดลง
ด้านดุลการค้าของประเทศไทยชะลอตัวลงจากเดือนก่อน เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าในหมวดหมู่ที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยการนำเข้าวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ, ปิโตรเลียม, และอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค นำมาโดยรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และโทรศัพท์มือถือ
ทั้งนี้ การเกินดุลการค้าลดลงเหลือ 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.8 หมื่นล้านบาท) โดยลดลงจาก 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.5 หมื่นล้านบาท) ในเดือนกันยายน ขณะที่การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ที่ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) จากการที่รัฐบาลเริ่มปรับการเบิกจ่ายงบประมาณให้กลับมาเป็นปกติ รวมถึงดำเนินโครงการแจกเงิน 10,000 บาท KKPS คาดว่าการเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 4/67 อาจพุ่งสูงถึง 4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอาจเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น ๆ
อย่างไรก็ดี KKPS เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันจากความท้าทายด้านความสามารถในการแข่งขันในภาคการผลิต หนี้ครัวเรือนที่สูง และการเติบโตของสินเชื่อติดลบ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะยังคงส่งผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศต่อไป ดังนั้นจึงปรับลดการคาดการณ์การเติบโตลงเหลือ 2.6% ในปี 68 และ 2.4% ในปี 69