เงินเฟ้อ พ.ย.67 พุ่ง! แตะ 0.95% ผลกระทบราคา “ดีเซล-อาหาร” ปรับสูงขึ้น

สนค. กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลข "เงินเฟ้อ" เดือน พ.ย.67 พุ่งขึ้น 0.95% จากปัจจัยราคาน้ำมันดีเซลและราคาอาหาร


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (4 ธ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีเศรษฐกิจการค้า ประจำเดือน พ.ย.67 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือน พ.ย.67 เท่ากับ 108.47 เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.66 ซึ่งเท่ากับ 107.45 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.95% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้น จากราคาผลไม้สด, เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน ต.ค.67 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป

ของไทย สูงขึ้น 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 23 จาก 132 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข คือ บรูไน, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และสปป.ลาว

ขณะที่ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 11 เดือน ม.ค.-พ.ย.67 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 0.32%

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 67 อยู่ระหว่าง 0.2% – 0.8% ค่ากลาง 0.5% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน

นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 68 คาดว่า จะอยู่ระหว่าง 0.3% – 1.3% ค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจไทยปี 68 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 67 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น

2. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดาน ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 67

3. การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจาก “โครงการเติมเงิน 10,000 บาท”

สำหรับ ปัจจัยที่จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ประกอบด้วย 1. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซแอลพีจี (LPG), 2. ฐานราคาผักและผลไม้สด ในปี 67 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา โดยคาดว่า ในปี 68 สถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก, 3. การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด และ 4. สินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด จากปัจจัยด้านต้นทุนสำคัญที่มีแนวโน้มปรับลดลง เช่น อัตราดอกเบี้ย และราคาน้ำมันในตลาดโลก

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในระยะถัดไปเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพาณิชย์ จะทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้ง

Back to top button