“ดีอี” จับมือ “อว.-ศธ.-UNESCO” จัดงานระดับโลก เสริมความรู้-นวัตกรรม AI

รองนายกฯ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ผนึก “อว.- ศธ.- UNESCO” โชว์วิสัยทัศน์ AI เตรียมพร้อมจัดงาน “UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ส่งเสริมความรู้-นวัตกรรม ยกระดับประเทศบนเวทีโลก


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (4 ธ.ค.67) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แสดงวิสัยทัศน์ผ่านปาฐกถาพิเศษในการแถลงข่าวการจัดงานประกาศความร่วมมืออย่างเป็นทางการของ กระทรวงดีอีกับกระทรวงการอุดมศึกษา, วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ในการเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ภายใต้แนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เผยว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ที่ควรต้องเป็นไปตามหลักการสำคัญ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยมีแผนและการเตรียมการในการนำ AI มาใช้ในองค์กรเพิ่มมากขึ้น

โดยในปี 2567 สูงถึง 73.3% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมาเกือบ 20% (ข้อมูลจากรายงาน AI Readiness Measurement 2024) ที่จัดทำโดย ETDA และ สวทช. นอกจากนี้ ประเทศไทยได้มีการประกาศ แนวทางการกำกับดูแลโดยมีแนวทางการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหาร และคู่มือแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร เพื่อประโยชน์ในการนำแนวทางและคู่มือไปประกอบการพิจารณาการนำ AI มาใช้ในระดับองค์กรเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น จากศักยภาพของประเทศในมิติต่างๆ จึงได้นำไปสู่ความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพร่วมเพื่อจัดงาน UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะมีทั้งเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้การส่งเสริมความร่วมมือในระดับพหุภาคี รวมไปถึงการเสริมสร้างความสามารถในการกำกับดูแล AI ในประเทศที่กำลังพัฒนา ที่ถือได้ว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลก ที่ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก และแสดงให้เห็นว่าไทยเองมีความสามารถในการเป็น ‘แหล่งเรียนรู้’ ในด้าน AI Governance ที่พร้อมร่วมมือกับ UNESCO อีกด้วย

 

นายศุภชัย ใจสมุทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึง ความพร้อมของประเทศไทยจากบทบาทของ กระทรวง อว. ในการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยี AI ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆโดยไม่เพียงเน้นสร้างนวัตกรรมเท่านั้นยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมโดยมีหน่วยงาน ภายใต้กระทรวง อว. คือ สวทช. ที่ร่วมผลักดันการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม AI ที่จะช่วยตอบโจทย์ระดับประเทศ

รวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนากรอบจริยธรรม AI ที่มุ่งเน้นความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล ประกอบกับ ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมและพัฒนาความพร้อมในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ผ่านการเตรียมทำการประเมินความพร้อมด้าน AI ตามกรอบแนวทางของ UNESCO RAM ที่เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ไทยได้เข้าใจสถานการณ์ความพร้อม ซึ่งครอบคลุมในมิติต่างๆ อีกทั้งข้อมูลที่วิเคราะห์ได้ จะพัฒนาไปเป็นข้อเสนอแนะ

ทั้งนี้ เพื่อนำไปสนับสนุนการวางแผนสำหรับประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนการปรับปรุงในมิติที่จำเป็น ภายใต้บริบทของไทยให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การร่วมจัดงาน Global Forum on the Ethics of AI 2025 ในปีหน้านี้ จะช่วยสะท้อนถึงการผนึกกำลังที่เข้มแข็งระหว่างกระทรวง อว. พร้อมด้วยกระทรวงดีอี และกระทรวง ศธ. จากประเทศไทย ในการทำงานร่วมกับ UNESCO เพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เท่าเทียมและยั่งยืนสำหรับทุกคน

ขณะที่ นายซิง ฉวี่ รองผู้อำนวยการใหญ่ UNESCO ได้กล่าวชื่นชมประเทศไทยในความเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมธรรมาภิบาลจริยธรรม AI และการผลักดันความร่วมมือระดับนานาชาติ พร้อมเน้นย้ำว่าภารกิจของ ยูเนสโก ในการสร้างสันติภาพผ่านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และชีวิตของผู้คน พร้อมยังกล่าวถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาพร้อมกับความก้าวหน้าในโครงสร้างพื้นฐาน AI ของภูมิภาค จนอาจนำมาสู่ความท้าทายที่เกิดขึ้น เช่น ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และผลกระทบต่อการจ้างงานจากระบบอัตโนมัติอย่าง AI เป็นต้น

อนึ่งการที่ประเทศไทยได้มีการนำกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมด้าน AI ของยูเนสโก (UNESCO RAM) มาใช้นั้น ถือเป็นก้าวสำคัญของกรอบการทำงานในการประเมินความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของไทย ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมส่งเสริมการใช้ AI ด้วยโปร่งใส ตามกรอบธรรมาภิบาลและจริยธรรมตามมาตรฐานสากล โดย Global Forum on the Ethics of AI 2025 จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับการเจรจาระดับโลกในการร่วมพัฒนาจริยธรรมการประยุกต์ใช้ AI ที่เคารพสิทธิมนุษยชน โปร่งใส เป็นธรรม พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคด้านธรรมาภิบาลจริยธรรม AI อย่างแท้จริง

พร้อมกันนี้ ในการแถลงข่าวความร่วมมือครั้งนี้ ประเทศไทย ยังได้ประกาศจุดยืนต่อผู้นำโลก ถึงความพร้อมของการประยุกต์ใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาล ตามกรอบ UNESCO’s AI Readiness Assessment หรือ UNESCO RAM พร้อมเปิดเวทีเสวนาเชิงลึกโดยผู้นำและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง กับการเสวนาใน 2 ประเด็นที่สำคัญ ได้แก่

“Thailand’s Journey in Driving AI Ethics & Governance: Insights from Hosting the Global Forum on the Ethics of AI” เส้นทางของไทยในการขับเคลื่อนจริยธรรมและการกำกับดูแล AI: มุมมองจากการเป็นเจ้าภาพ Global Forum on the Ethics of AI โดย ดร.เวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC,

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส ETDA และ ดร.วีระ วีระกุล รองประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ที่จะมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์การใช้การประชุมระดับโลกครั้งนี้เป็นแพลตฟอร์มในการยกระดับบทบาทของไทยสู่การเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับสากล

“Policy and Strategic Frameworks”, in the Region Readiness Assessment Methodology (RAM)” นโยบายและกรอบยุทธศาสตร์” ในกรอบแนวทางการประเมินความพร้อมระดับภูมิภาค โดยนายอิราคลี โคเดลี หัวหน้าหน่วยจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ UNESCO ร่วมกับ ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์  ผอ. ETDA, ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผอ. NECTEC ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นการวางกรอบการประเมินความพร้อมด้านปัญญาประดิษฐ์ (UNESCO RAM) ที่จะเป็นเครื่องมือมาตรฐานสำหรับประเทศในภูมิภาค พร้อมแนวทางการจัดตั้งหอสังเกตการณ์จริยธรรมและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ระดับโลก ที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศปัญญาประดิษฐ์ที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การเตรียมความพร้อมของประเทศและกระแสการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีจริยธรรมและธรรมาภิบาลในเวทีระดับโลก ที่สะท้อนจากมุมมองในระดับนโยบายของประเทศ สู่ความร่วมมือจากหน่วยงานสำคัญของไทยและ UNESCO จึงได้นำสู่การร่วมดำเนินงานโครงการสำรวจความพร้อมด้านจริยธรรม AI ของประเทศไทยตามแนวทางแนะนำของ UNESCO (โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ https://www.ai.in.th/)

รวมถึงการเตรียมจัดการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกในเอเซียแปซิฟิก “The 3rd UNESCO Global Forum on the Ethics of AI 2025” ในแนวคิด “Ethical Governance of AI in Motion” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2568 ที่กรุงเทพฯ โดยติดตามความคืบหน้าในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ได้ผ่านเพจ ETDA Thailand

Back to top button