กสิกรไทยเตือน! “สงครามการค้า” รอบใหม่ กระทบเศรษฐกิจไทยปี 68 โตแค่ 2.4%

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเศรษฐกิจไทย ปี 68 ต่ำว่าปีนี้ ชะลอตัวจากสงครามการค้า ขณะที่ท่องเที่ยว-ส่งออกแผ่ว


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ธ.ค.67) นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 68 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.4% ชะลอตัวลงจากปี 67 ซึ่งคาดว่า จะขยายตัว 2.6% เนื่องจากสงครามการค้าซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลัก จากความไม่แน่นอนจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศไทย ที่มีความเปราะบางจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ประเมินว่าแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ลดลง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าใกล้ระดับก่อนโควิด เช่นเดียวกับการส่งออกที่คาดว่าจะโตช้าลง จากผลกระทบสงครามการค้า ทั้งทางตรงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้า และทางอ้อมผ่านตลาดอื่น ๆ ที่ต้องแข่งขันกับสินค้าจีน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา จากเม็ดเงินเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่อเนื่อง ในขณะที่การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ที่หดตัว สอดคล้องไปกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDIs) ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมมองว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังมีสูง จากความแน่นอนของสงครามการค้า เศรษฐกิจหลักของโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีน และภาคการผลิตของไทย ที่เจอภาวะการแข่งขันสูงจากสินค้าจีน ท่ามกลางขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง

สำหรับแนวคิดการปรับโครงสร้างภาษีของภาครัฐนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า รัฐบาลมีความพยายามหาแรงดึงดูดให้มีการลงทุนภายในประเทศเพิ่ม รวมทั้งดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลง ดังนั้นจึงต้องพิจารณาปรับขึ้นภาษีส่วนอื่น นั่นคือภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากปัจจุบันเก็บที่อัตรา 7%

“การปรับเพิ่มภาษี VAT จะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และกระทบกับกลุ่มรายได้น้อย สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐอาจต้องมีมาตรการเสริมเพื่อเยียวยา ทั้งนี้ ต้องติดตามรายละเอียดของการปรับโครงสร้างภาษีต่อไป”

ด้าน นางสาวเกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ในปี 68 สถานการณ์อุตสาหกรรมไทย คงจะไม่ดีขึ้นได้มากนัก ท่ามกลางหลายปัจจัยกดดัน ทั้งสงครามการค้าภายใต้นโยบาย “ทรัมป์ 2.0” ซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและการผลิต มาตรการภาครัฐบางเรื่องที่อาจกระทบต้นทุน และประเด็นเชิงโครงสร้าง ที่ยังทำให้การใช้จ่ายเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

ส่วนกลุ่มที่ยังฟื้นตัวได้ช้าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางถึงล่าง โดยมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ประกอบการภาคการผลิตในธุรกิจรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ โลหะ แฟชั่น อาจลดลงอีก ส่วนในภาคการค้าและบริการ แม้จำนวนผู้ประกอบการอาจเพิ่ม แต่การยืนระยะทางธุรกิจก็คงไม่ง่ายเช่นกัน

น.ส.ธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ปี 2568 คาดว่าจะยังเห็นสถานการณ์แนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเติบโตช้าและต่ำ โดยมีอัตราการขยายตัวราว 0.6% จากปี 2567 ที่คาดว่าจะหดตัว 1.8% ท่ามกลางปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ที่ยังจะกดดันให้สินเชื่อรายย่อยยังหดตัวต่อเนื่อง

ขณะที่หนี้ด้อยคุณภาพ ยังเป็นปัญหาที่ต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง ทั้งฝั่งสินเชื่อรายย่อย รวมถึงฝั่งสินเชื่อ SME โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ข้อมูลสินเชื่อธุรกิจจากฐานข้อมูลบัญชีลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งเป็นข้อมูลสถิติที่ไม่ระบุตัวตนของเครดิตบูโร (NCB) พบ 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1.หนี้ธุรกิจไทยกลับมาถดถอยลงตั้งแต่ช่วงปลายปี 66 ถึงต้นปี 67 หลังหมดแรงส่งมาตรการช่วยเหลือทางการเงินช่วงโควิด, 2.ธุรกิจยิ่งเล็กปัญหาหนี้เสียยิ่งรุนแรง, 3.สถาบันการเงินทุกประเภทที่ปล่อยสินเชื่อเผชิญผลกระทบด้านปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพชัดเจนขึ้น, 4.การเจาะกลุ่มปัญหาหนี้เรื้อรัง คือ ธุรกิจบัญชีเดิมที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าธุรกิจขนาดเล็กและกลางน่าห่วงมากขึ้น

และ 5.ประเภทธุรกิจหลักที่มีปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพเน้นไปที่อสังหาริมทรัพย์ ค้าส่ง-ค้าปลีก ที่พักและอาหาร และภาคการผลิต ซึ่งสะท้อนปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ ปัญหาอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง การแข่งขันรุนแรง และการฟื้นตัวของธุรกิจที่กระจายไม่ทั่วถึง รวมถึงสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถในการแข่งขันที่ถดถอย ซึ่งจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME ณ สิ้นเดือน พ.ย.67 ชี้ว่า การสนับสนุนเศรษฐกิจภาพรวมให้เติบโตต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลดีต่อรายได้ของธุรกิจ จะเป็นหนึ่งในทางออกที่ยั่งยืน

ด้าน นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้งของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความไม่แน่นอนขึ้นต่อการลงทุนและการค้าโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าที่ต้องรอความชัดเจนในต้นปีหน้า ซึ่งได้ก่อให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะซบเซาเหมือนช่วงทศวรรษ 1930 ขณะนโยบาย America First จะทำให้มีการเปลี่ยนระเบียบโลก (Global Order) สร้างความเสี่ยงต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้

Back to top button