“อู่ตะเภา” รอไฮสปีด 3 สนามบิน “พุฒิพงศ์” จี้ EEC เร่งสรุป หวั่นกระทบแผนลงทุน
“พุฒิพงศ์ ปราสาท” ตัวแทนผู้ร่วมทุน UTA เตรียมแผนสำรอง เจรจา EEC เพื่อหาข้อสรุปภายไตรมาสแรกของปี 68 หลังมีความกังวล เหตุ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไม่คืบหน้า กระทบโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ในฐานะ ผู้ร่วมทุนในบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บริษัทเดินหน้าลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ผ่านบริษัทร่วมทุน UTA ไปแล้ว กว่า 4,000 ล้านบาท อาทิ จัดทำแผนพัฒนา, ออกแบบโครงการ, จ้างที่ปรึกษา, ประสานงานด้านผลกระทบ รวมถึงทำงานร่วมกับกองทัพเรือ เป็นต้น
นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า แต่โครงการดังกล่าวผูกติดกับโครงการรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตะเภา ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และผู้ร่วมลงทุนรถไฟไฮสปีดที่ยังไม่มีความชัดเจน จึงยังไม่สามารถออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน หรือ NTP ได้ ทั้งนี้ UTA ได้พยายามหารือกับ สำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อหาข้อสรุปมาโดยตลอด
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BA อธิบายว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ที่ทางกลุ่ม UTA ทำสัญญาดำเนินการนั้น เป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นจากพื้นฐานของการมีรถไฟไฮสปีด เชื่อม 3 สนามบิน โดยวางแผนให้เมืองการบินตะวันออก เป็นเมืองเอ็นเตอร์เทนเมนต์ สร้างแม็กเนตใหม่ ๆ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า เอ็นเตอร์เทนเมนต์ต่าง ๆ สถานที่รองรับการแสดงโชว์ระดับโลก เป็นต้น โดยใช้แนวทางของพื้นที่ปลอดอากร หรือ ดิวตี้ฟรี
ซึ่งรถไฟไฮสปีดจะเป็นระบบคมนาคมขนส่งสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนและขนคนเข้าไปในพื้นที่ รวมถึงรองรับความหนาแน่นของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งแผนการพัฒนาจะต้องสอดรับกับศักยภาพการรองรับของสนามบินอู่ตะเภาที่ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพ รองรับผู้โดยสารได้ถึง 8-10 ล้านคนในเฟสแรก และเพิ่มเป็น 60 ล้านคน ตามเงื่อนไขสัญญาพัฒนา 50 ปี จึงอยากได้สรุป ภายในไตรมาส 1/2568 เพราะเงื่อนไขการดำเนินการโครงการในสัญญา ใกล้จะครบกำหนด 5 ปี ในเดือน มิ.ย.68 แล้ว
นายพุฒิพงศ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง UTA ได้เตรียมทำแผน 2 เพื่อเป็นแผนสำรองแล้ว หากโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบินไม่สามารถเกิดขึ้นจริง โดยมีแผนจะขอเจรจาเพื่อปรับเงื่อนไขการลงทุนใหม่ รวมถึงตัวเลขเงินลงทุนและมาประเมินอีกครั้งว่าจะถึงจุดคุ้มทุนได้เมื่อไหร่ อย่างไรต่อไป เพราะถ้าโครงการรถไฟไฮสปีดไม่เกิดขึ้น แน่นอนว่าจะมีผลโดยตรงต่อพาร์ทเนอร์ที่จะเข้าร่วมลงทุนโครงการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบทำให้การหาแหล่งเงินทุนยากขึ้นด้วย โดยคาดว่า ในเฟสแรกของการลงทุนโครงการดังกล่าว น่าจะใช้เงินประมาณ 15,000 ล้านบาท