IVF เทรดวันแรก! ลุ้นวิ่งชนเป้า 5.50 บาท ระดมทุน 400 ล้าน ขยายสาขา-ขยายธุรกิจ
ไอพีโอน้องใหม่ IVF เข้าจดทะเบียนตลาด mai วันแรก โบรกชูเป้าสูง 5.50 บาท มองผลงาน 3 ปี (67-69) โตต่อเนื่อง เดินหน้าระดมทุน 400 ล้านบาท ขยายสาขาเพิ่ม และลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน หนุนผลงานเติบโตต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (11 ธ.ค.67) หลักทรัพย์ของ บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด (มหาชน) หรือ IVF เตรียมเข้าจดทะเบียน และทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เป็นวันแรกในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการ ในราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ที่ระดับ 3.10 บาท/หุ้น จำนวน 130 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าการระดมทุน 403 ล้านบาท โดยมี บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับ IVF ให้บริการด้านการรักษาผู้มีบุตรยากแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา การวางแผนการรักษาภาวะมีบุตรยาก ตลอดจนการเลือกรักษาด้วยวิธีต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ICSI และ IUI เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของคู่สมรส
สำหรับ IVF มีทุนชำระแล้วหลัง IPO จำนวน 220 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 310 ล้านหุ้นและหุ้นสามัญเพิ่มทุน 130 ล้านหุ้น เสนอขายต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จำนวนไม่น้อยกว่า 57.5 ล้านหุ้น ผู้ลงทุนสถาบันไม่เกิน 40 ล้านหุ้น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทไม่เกิน 19.5 ล้านหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทไม่เกิน 13 ล้านหุ้น เมื่อวันที่ 29 พ.ย.- 3 ธ.ค. 67 ในราคาหุ้นละ 3.10 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอขาย 403 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO จำนวน 1,364 ล้านบาท
ทั้งนี้ การกำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E ratio) ที่ 44.93 เท่า คำนวณจากกำไรสุทธิ 4 ไตรมาสล่าสุด (1 ต.ค. 66-30 ก.ย. 67) ซึ่งเท่ากับ 30.36 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ (fully diluted) คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น 0.069 บาท โดยมีบริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย
น.ส.เกศิณี กุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร IVF กล่าวว่า บริษัทเน้นสร้าง Brand Awareness และพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ลูกค้าเชื่อมั่นในคุณภาพ บริษัทจึงให้ความใส่ใจต่อคุณภาพบริการด้วยมาตรฐาน AACI, ISO9001:2015,GHA และ Temos และให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้จะนำไปใช้ในการขยายสาขา ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจให้บริการดูแลสุขภาพ (wellness) และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
IVF มีผู้ถือหุ้นใหญ่หลังเข้าจดทะเบียน คือ กลุ่มนายชนะชัย จุลจิราภรณ์ ถือหุ้น 46.82% นายพุฒิพงศ์ ภูมิสุวรรณ 11.91% และนายบัณฑิต อนันตมงคล 4.20% โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิภายหลังจากหักภาษีเงินได้ นิติบุคคล และเงินทุนสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองอื่นๆ
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ เอเอสแอล จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประมาณการรายได้สำหรับช่วง 3 ปีข้างหน้า (67-69) เท่ากับ 145.86 ล้านบาท 224.22 ล้านบาท และ 298.30 ล้านบาท ตามลำดับคิดเป็นการเติบโตของรายได้ร้อยละ 20 ร้อยละ 53.72 และร้อยละ 33.04 ตามลำดับ
ทั้งนี้ รายได้มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าจะเร่งตัวได้ดีตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 67 เป็นต้นไป หลังบริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าใช้บริการทั้งคนไทยและต่างชาติมากยิ่งขึ้น
รวมถึงบริษัทจะมุ่งเน้นในกำรทำกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้น ด้านแนวโน้มของอัตรากำไรขั้นต้นมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 60.00 ร้อยละ 67.50 และร้อยละ 67.50 ตามลำดับ เนื่องจากบริษัทมีนโยบายการกำหนดราคาแบบ Cost Plus Margin ถ้าจำนวนการใช้บริการสูงขึ้นก็จะยิ่งทำให้เกิดการประหยัดจากขนาดส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิเท่ากับ 42.67 ล้านบาท 83.67 ล้านบาท และ 113.51 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับร้อยละ 28.67 ร้อยละ 36.95 และร้อยละ 37.76 ตามลำดับ หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.10 บาท 0.19 บาท และ 0.26 บาท ตามลำตับ
พร้อมประเมินมูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 68 ได้เท่ากับ 5.50 บาทต่อหุ้น โดยประมาณการณ์กำไรสุทธิในปี 68 ที่ 83.67 ล้านบาท จำนวนหุ้นที่ 440.00 ล้านหุ้น คิดเป็น EPS เท่ากับ 0.19 บาทต่อหุ้น และประเมิน PER ที่เหมาะสมเท่ากับ 28.9 เท่า (ใกล้เคียงกันกับค่าเฉลี่ย PER ของหุ้นที่อยู่ที่ในอุตสาหกรรมเดียวกันอย่าง GFC และ SAFE + 0.25 S.D.)
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์ คาดการณ์กำไรสุทธิของบริษัทมีอัตราการเติบโต CARG อยู่ที่ 31% ช่วงปี 67-68 อยู่ที่25 ล้านบาทในปี 67, 83 ล้านบาทในปี 68 และ 93 ล้านบาทในปี 69 โดยมีปัจจัยหนุนมาจาก 1.การขยายให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ 2.เพิ่มบริการด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูเพื่อตอบสนอง ความต้องการของลูกค้าที่ต้องการการดูแลสุขภาพที่ครอบคลุม และ 3.ขยายสาขาธุรกิจเพิ่มโอกาสในการเติบโต
ทั้งนี้ เชื่อว่าบริษัทจะมุ่งเน้นการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มชาวต่างชาติเป็นหลัก โดยคาดการณ์ว่าสัดส่วนลูกค้าต่างชาติเริ่มกลับมาอยู่ที่ประมาณ 80- 90% ของลูกค้าทั้งหมดในปี 68 นอกจากนี้หลังจากการเพิ่มทุนผ่าน IPO บริษัทมีแผนที่จะนำเงินทุนไปใช้ในการขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นและเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า ทั้งนี้แพ็กเกจการให้บริการที่จัดทำขึ้นสำหรับลูกค้าต่างประเทศมีราคาสูงกว่าบริการสำหรับลูกค้าในประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อเคสให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ดี ประเมินราคาที่เหมาะสมของ IVF ที่ราคา 5.30 บาท อ้างอิง PER ปี 68 ที่ 28 เท่า สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมให้บริการรักษาผู้มีบุตรยาก หลังจากเพิ่มทุน IPO เชื่อว่าบริษัทจะสามารถขยายการเติบโต ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งมีแผนจะเปิดสาขาเพิ่มเติม 2 สาขาภายใน 3 ปี
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด ประเมินราคาพื้นฐานที่ 5.10 บาท/หุ้น เทียบเท่า P/E ปี 68 ที่ 28.1 เท่า แม้คาดการณ์กำไรปี 67 ลดลง 33.7% ส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเตรียม IPO และค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผลประกอบการปี 68 มีโอกาสเติบโตเด่น คาดการณ์รายได้ 224 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92.5% และกำไรสุทธิ 80 ล้านบาท โต 193.3% จากแผนขยายตลาดลูกค้าอินเดีย, จีน เพิ่มมากขึ้น และตปท.อื่นๆ ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ประมาณการนี้ยังไม่รวมโครงการลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ แม้ IVF จะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับคู่แข่ง SAFE, GFC และประเทศในภูมิภาค ซึ่งจดทะเบียนใน HK (Jinxin Fertility Group Ltd) และ MK (Alpha IVF Group Bhd) แต่มองว่า IVF มีศักยภาพการเติบโตสูงโดยเฉพาะหลังได้เงิน IPO จะช่วยธุรกิจขยายตัวมากขึ้น นอกจากนี้ IVF ยังมีจุดเด่นจากความสามารถทำกำไรสูงกว่าคู่แข่งทั้ง 4 ราย ทำให้มอง IVF เป็นหนึ่งในหุ้นที่น่าสนใจ โดยประเมินราคาพื้นฐานปี 68 ที่ 5.10 บาท/หุ้น อิง DCF (WACC: 10.6%; terminal growth 3.5%) ซึ่งเทียบเท่า P/E ปี 68 ที่ 28.1 เท่า เป็นระดับที่รับได้เมื่อเทียบกับ P/E เฉลี่ย (24 เท่า) ของผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจใกล้เคียงกัน
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ โดยมีมุมมองที่เป็นบวกต่อผลการดำเนินงานในอนาคตของ IVF จาก 1.ความสามารถในการเสริมบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่เข้ากับบริการเดิม 2.Success Rate ที่สูงกว่าอุตสาหกรรม 3.การรับรองมาตรฐานนานาชาติ และ 4.Facility ที่ยังสามารถรองรับผู้ใช้บริการอีกจานวนมาก การเติบโตของรายได้ลู่ขึ้นไปตามภาวะอุตสาหกรรมตลาดท่องเที่ยวสาหรับผู้มีบุตรยากของโลก
โดยในส่วนของปี 67 แม้จะประเมินรายได้จากการขายและบริการหดตัวอยู่ที่ 117 ล้านบาท (ลดลง 4% จากปีก่อน) จากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มลูกค้าต่างชาติที่ลดลงชั่วคราว ระหว่างศึกษาตลาดผู้มีบุตรยากในประเทศใหม่ๆ แต่ภาพระยะถัดไปปี 68-69 คาดการณ์ว่ารายได้จากการขายและบริการของ IVF จะกลับมาเติบโตเด่นอยู่ที่ 214 ล้านบาท (โต 83% จากปีก่อน) และ 256 ล้านบาท (โต 20% จากปีก่อน) ตามลำดับ หนุนด้วย
1.รายได้จากการบริการรักษาผู้มีบุตรยากเฉลี่ยต่อ OPU ที่สูงขึ้น และ 2.จำนวนรอบเก็บไข่ (OPU) ที่คาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในกลุ่มลูกค้าต่างชาติโดยเฉพาะอินเดีย ด้านต้นทุนและค่าใช้จ่าย ในส่วนของปี 67 นี้มีปัจจัยกดดันชั่วคราวจาก 1.การลงทุนใน Embryoscope Plus และ 2.ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ และการศึกษาตลาดใหม่ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ประเมิน GPM และ NPM ในปีนี้ลดลงจากปีก่อนอยู่ที่ 61% และ 25% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า GPM และ NPM จะกลับมาโดดเด่นในปี 68-69 ได้แรงหนุนจาก Economy of Scale ที่ GPM ราว 63-64% และ NPM ราว 36-38% ทั้งนี้ ปัจจุบันประเมินกาไรสุทธิปี 67-69 ที่ 30 ล้านบาท (ลดลง 28% จากปีก่อน), 79 ล้านบาท (โต 165% จากปีก่อน), และ 98 ล้านบาท (โต 25% จากปีก่อน) ตามลำดับ หรือคิดเป็น CAGR ของกำไรสุทธิปี 66-69 ที่โต 34%
ทั้งนี้ เลือกใช้ Peers จากบริษัทจดทะเบียนที่มีธุรกิจเป็นผู้ให้บริการผู้มีบุตรยาก ทั้งในไทยและในเอเชีย-แปซิฟิก จากการที่ IVF เป็นผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าเป้าหมายกว้าง และสัดส่วนรายได้จากลูกค้าต่างประเทศสูง เลือกค่า PE ที่เหมาะสมจาก Mean ของ 68 มี PE ของ Peers ที่ 25.21 เท่า ประเมินราคาเหมาะสมของ IVF ในปี 68 ได้ที่ 4.50 บาท